วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

นกตีทอง แว่วเสียง...ต๊ง ต๊ง ต๊ง...

แว่วสำเนียง นกร้อง ต๊ง ต๊ง... อ๋อ นกตีทอง  

 นกตีทอง มาเกาะที่เสาอากาศโทรทัศน์ บนหลังคาบ้าน เลยถ่ายมาให้ดู เป็นนกตัวเล็ก ๆ ที่มีหัวสีแดง เหมือน หนูน้อยหมวกแดง
 นกตีทอง ส่งเสียงร้อง "ต๊ง ต๊ง ต๊ง ต๊ง ต๊ง ต๊ง....." ดังมาก ๆ  นกหาอะไรเนี่ย.....

นกตีทอง เป็นนกที่เราพบได้ทั่วไปตามสวนสาธารณะ บ้านเรือน ที่มีต้นไม้ ต้นไทร เป็นนกในกลุ่มของ นกโพระดก ขนาดเล็ก ที่มีขนาดตัวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 16เซ็นติเมตร พบในประเทศไทยได้บ่อยที่สุด เพราะสามารถพบได้ทั่วไป หรือที่ไหนมีนกตีทองอยู่หละก็ เราจะได้ยินเสียงร้อง ต๊ง ต๊ง ต๊ง.... ก่อนจะเจอตัวแน่นอน 

ที่มาของคำว่า "ตีทอง" นั้นมาจากเสียงร้องของนกครับคือเสียง "ต๊ง ต๊ง ต๊ง ต๊ง.." ติดต่อกันเหมือนเสียงของชั่งตีทองแถวเยาวราชค่ะ  ก็เลยเป็นที่มาของชื่อ  "นกตีทอง"

ชื่อสามัญ Coppersmith Barbet 
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Megalaima haemacephala
Mega มาจากคำภาษากรีกว่า magas แปลว่า ใหญ่ ส่วนคำว่า laimos แปลว่า คอหอย 
haima แปลว่า เลือด ส่วนคำว่า kephalos แปลว่าหัว 
สรุปจากชื่อวิทยาศาสตร์ว่า นกชนิดนี้มี คอใหญ่ หัวสีแดง

ตัวนี้มาเกาะที่สายไฟ เด่นเป็นสง่ามาก แล้วส่งเสียงร้อง ทำให้ต้องหยุดรถ ลงไปถ่ายมาเก็บไว้เลย

ถิ่นอาศัย ของนกตีทอง
     พบในทวีปเอเชียแถบประเทศปากีสถาน จีน สุมาตรา ฟิลิปปินส์ และในประเทศไทยพบอยู่ทุกภาค และพบได้บ่อย  
     พบได้ตามบ้านเรือนที่มีต้นไม้ มีต้นไทร สวนสาธารณะ สวนผลไม้ ป่าโปร่ง และชายป่า
  
อาหารของนกตีทอง  คือ บรรดาเมล็ดพืช ผลไม้ต่าง ๆ และแมลงบางชนิดเป็นอาหาร เช่นไทร หว้า ตะขบ มะเม่า หนอน แมลง ไข่ ตัวอ่อนของแมลง

พฤติกรรม และการสืบพันธุ์ของนกตีทอง
     ชอบอาศัยอยู่ตามป่าโปร่งตามเรือกสวนใกล้หมู่บ้าน มักอยู่แต่เฉพาะบนต้นไม้ ไม่ลงมาบนพื้นดิน ส่งเสียงร้องคล้ายเสียงค้อนเคาะโลหะซ้ำๆ ดัง "ต๊ง ต๊ง" 
     นกตีทอง ทำรังอยู่ตามโพรงไม้ วางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง และช่วยกันกกไข่ทั้งตัวผู้และตัวเมีย 

สถานภาพปัจจุบันของนกตีทอง
     เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ง่ายทั่วประเทศ จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535


เรื่องเล่าจากนกตีทอง





ภาพ นกตีทอง ชุดนี้ เป็นชุดที่เขากำลังเจาะไม้อยู่ ที่ต้นมะม่วง เห็นแล้วเลยเก็บภาพมาฝาก

    เป็นจริงอย่างที่คนเขียนอวดอ้างจริง ๆ ค่ะ ขณะเราขี่จักรยานเล่น ได้ยินเสียงนกร้อง ต๊ง ต๊อง ต๊ง ต๊ง.... ก็เลยหยุดจักรยาน มองหานก เห็นนกตีเล็ก ๆ หัวแดง ๆ สีเจ็บมาก กำลังเกาะอยู่บนเสาอากาศของโทรทัศน์ ก็เลยคว้า กล้องแคนนอน Power Shot S5is คู่ชีพ ออกมา ตั้งค่า วัดแสง แล้วถ่ายเก็บมาฝาก อีก แต่ยังไม่พบ เรายังพบเจ้า นกตีทอง หลายต่อหลายครั้ง ทั้งออกมา เจาะไม้ ส่งเสียงร้อง และเจาะหลอดไฟข้างถนน....



นกตีทอง ตัวการ (หย่าย....) ในการที่หลอดไฟข้างถนนแตก....จริงหรือไม่...

    บางครั้ง มันร้องเสียงดัง อ้าปากค้าง นาน ๆ เรายังนึกว่า ขากรรไกรมันค้างหรือเปล่า ไม่เห็นหุบปากเลย (อิอิ...) แต่มันเป็นนกที่ชอบทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ และอยู่ในบริเวณเดิม ๆ เพราะบ้างครั้ง เราก็จะพบ เจ้านกตีทอง ในบริเวณเดิม ที่เคยเจอะ และก็ทำพฤติกรรมเดิม ๆ เช่นกัน

    นกตีทอง เขาว่าอยู่ในกลุ่มนกโพระดก ที่มีขนาดเล็ก สีสรรสวยงาม และน่ารัก น่าชม แต่เสียงร้องมัน ดัง จริง ๆ แถมยังชอบเจาะไม้ เจาะโน้น เจาะนี้ ไปเรื่อยด้วย .... ลองมามองหากันนะค่ะ.... แล้วเพื่อนจะขำกับพฤติกรรมของมัน

        เพื่อน ๆ ลองสังเกตุนกแถวบ้านดูซิค่ะ เราว่า เพื่อนต้องได้พบกับเจ้านกตีทอง ชนิดนี้แน่นอน ...... 
-->

วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

นกจับแมลงสีน้ำตาล ณ สวนรถไฟ

นกจับแมลงสีน้ำตาล / Asian Brown Flycatcher  หรือที่นักดูนกมักย่อว่า ABF เป็นอาหารจานเล็ก ๆ ที่มักพบเห็นกันตามสวนหย่อม ตามแหล่งน้ำ ตามที่รก ๆ ในช่วงเดือน ตุลาคม ถึง มีนาคม เพราะเป็นนกที่อพยบมา

ชื่อ:
นกจับแมลงสีน้ำตาล

ชื่อสามัญ:
Asian Brown Flycatcher

ชื่อวิทยาศาสตร์:
Muscicapa dauurica

จำแนกอยู่ในวงศ์:
อยู่ในวงศ์นกจับแมลง Family Muscicapidae 

ในอันดับนกเกาะคอน Order Passeriformes







รูปร่างลักษณะ 
เป็นนกขนาดเล็กมาก ความยาวจากปลายปากจดหาง 13 - 13.5 ซม. ว่องไว โฉบบินจับแมลง
นกทั้งสองเพศ ทั้งเพศผู้ และเพศเมีย สีสันคล้ายกัน แยกกันไม่ออก ต้องจับมาตรวจสอบ ดูจากภาพแทบแยกไม่ออกเลย


นกที่เต็มวัย ลักษณะ

  • ลำตัวด้านบน สีเทาจนถึงน้ำตาลแกมเทา 
  • ปาก สีอ่อน ปลายปากสีคล้ำ ตอนโคนปากมีสีเหลือง  
  • วงรอบตา สีเนื้อหรือสีขาว มีแถบเล็กๆสั้นๆ ลากผ่านตา 
  • มีขีดสีขาวคล้ายหนวด ลากจากโคนปากลงมาด้านหน้าของขนคลุมหู ไม่มีลายที่ปีก 
  • ลำตัวด้านล่าง และ ขนคลุมใต้โคนหาง สีออกขาว 
  • นกบางตัวอาจมีลายขีดเล็กๆ สังเกตได้ยาก นอกจากจะดูในระยะ ใกล้ 
  • อกตอนล่าง เป็นลักษณะสีซึม ออกน้ำตาลแกมเทา 
  • ข้างอก จะมีสีน้ำตาลแกมเทา มากกว่า ตรงกลางอก 
  • สีข้าง สีเทาแกมน้ำตาล ตรงกลางอกมักมีสีขาว 
  • นิ้วเท้า สีออกดำ 
  • ตอนล่างของขนบริเวณไหล่ มีขลิบขอบขนรูปครึ่งเสี้ยวสีอ่อน มีแต้มสีเทา ที่ขนคลุมปีกชั้นแรก และ ชั้นกลางด้านที่ติดลำตัว 


นิสัยประจำพันธุ์ มักพบอยู่โดดเดี่ยว หรือ เป็นคู่ ชอบเกาะตามกิ่งล่างของต้นไม้ หรือ ที่กิ่งแห้ง , ตา คอยจ้องหาเหยื่อ ซึ่งได้แก่แมลง ที่บินผ่านมา โดยโฉบจับด้วยปากกลางอากาศ แล้วกลับมาเกาะที่กิ่งเดิม บางครั้งลงมาจับแมลงตามพื้นดิน โดยบินลงเกาะที่พื้นดินใกล้แมลงที่กำลังเดินอยู่ แล้วบินโฉบจับ โดยไม่เดินหาตามพื้นดิน ขณะเกาะตามปกติ มักขยับปีกเร็วๆ อยู่กับที่เกือบตลอดเวลา เหมือนตั้งท่าพร้อมจะบินออกไปทุกเมื่อ , หาง ห้อยลง , เป็นนกที่ขยันหากิน มักพบโฉบจับแมลง เกือบทั้งวัน แต่จะดูเคลื่อนไหวว่องไวมากในตอนเช้า และ เย็นใกล้ค่ำ

เสียงร้อง : "ชี ติ-ติ-ติ"

  -->

แหล่งอาศัยหากิน พวกที่เป็นนกอพยพ จะพบได้ในป่าหลายแบบ และ อาจพบแม้แต่ตามสวนสาธารณะ บริเวณบ้านคนที่มีต้นไม้และที่โล่งอยู่บ้าง ปกติจะพบในป่าโปร่ง ชายป่า ทุ่งโล่ง สวนผลไม้ และ ป่าชายเลน ตั้งแต่พื้นราบจนถึงความสูง 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล

การหาอาหาร จำพวกแมลง ใช้วิธีโฉบจับจากกลางอากาศจากกิ่งที่เกาะ และกลับไปเกาะที่กิ่งเดิม บางครั้งลงจับแมลงที่พื้นดิน เสียงร้อง : "ชี ติ-ติ-ติ"

นกจับแมลงสีน้ำตาล หรือ ABF นี้ เป็นที่นิยมของนักดูนกมาก และเหมาะกับสำหรับนักดูนกที่หัดใหม่ เพราะพบเห็นได้ง่าย ค่อนข้างอยู่นิ่งให้ดูได้นาน ๆ อีกด้วย

ขอบคุณ ภาพถ่ายจากคุณตู๋ ภาพนกทั้งหมดได้จากสวนรถไฟในเดือน พฤศจิกายน 2555 ค่ะ

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เดินป่าปลายฝนต้นหนาว ดูดอกหงอนนาค ณ ภูสอยดาว

ฝนเริ่มทิ้งช่วงแล้ว อากาศเย็น ๆ เริ่มมาเยือนยอดดอย ปลายฝนแบบนี้ ช่วงเดือนตุลาคม แบบนี้ มีเพื่อนชวนไปเดินป่า ชมนก ชมไม้ ณ ลานสน ภูสอยดาว โดยโปรยคำชวนว่า "ถ้าเข่ายังดี ไปชมดอกหงอนนาค ที่ภูสอยดาวกันไหม รีบไปก่อนเข่าเสื่อมนะ" อ้าว...พูดแบบนี้ ไม่ไปไม่ได้แล้ว รีบไปก่อนแก่ดีกว่า...หลังจากพูดมา 2 อาทิตย์ และบอกแบบขู่ ๆ ด้วยว่า ให้ฟิตร่างกายหน่อยนะ แต่ด้วยการงานที่ยุ่งมาก ๆ กว่าจะเสร็จงาน ว่าจะนอน กว่าจะถึงบ้าน ก็ไม่เคยได้ไปฟิตร่างกาย เตรียมร่างกายที่ไหนเลย แต่ใจนะพร้อมยิ่งกว่า อยากไปนอนดูดาว ชมดอกไม้เล่นแล้ว....

--> เราเดินทางจากกรุงเทพด้วยรถทัวน์ไปลงที่พิษณุโลก แล้วมีเพื่อนขับรถมารับไปที่อุทยานภูสอยดาว เราตกลงเช่าบ้านที่อุทยานนอนพักกัน 1 คืน พรุ่งนี้เช้าค่อยเดินทางขึ้นภู วันนั้นก็เดินเล่นดูนก ชมดอกไม้ ณ อุทยาน

เช้าวันรุ่งขึ้น รอจนเจ้าหน้าที่มาก็ 8 โมงกว่า กว่าจะได้ไปลงทะเบียน มีนักท่องเที่ยวมาหลายกลุ่มมาก ลงทะเบียนค่าเข้าอุทยาน 40 บาทต่อคน ค่ารถ 60 บาท ค่าประกันขยะ (ต้องเก็บกลับมา) 150 บาท และค่าลูกหาบคิดกิโลกรัมละ 20 บาท (จ่ายตรงกับลูกหาบเอง)

จุดมุ่งหมายของทริปนี้ คือ ไปดูทุ่งดอกหงอนนาค และเก็บภาพดอกหงอนนาคมาฝากเพื่อน ๆ

ก่อนอื่นขอแนะนำเกี่ยวกับ ดอกหงอนนาคกันสักนิดว่า คืออะไร


ดอกหงอนนาค หรือดอกหงอนเงือก หรือ น้ำค้างกลางเที่ยง หญ้าหงอนเงือก หงอนเงือก มีหลายชื่อมาก ตามแต่ที่จะเรียกกันของชาวบ้าน
โดยที่เรียกแบบนี้ ให้เราลองสังเกตุดูว่า บริเวณก้านดอก พบว่า มีลักษณะเป็นเกล็ด คล้ายเกล็ดพญานาค จึงให้ชื่อว่า ดอกหงอนนาค และ ที่เรียกว่า น้ำค้างกลางเที่ยง เพราะว่า ดอกจะบานเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง โดย จะมีหยดน้ำค้าง ค้างอยู่บนเวณ กลีบเลี้ยง เป็นหยด จึงได้รับสมญานามว่า น้ำค้างกล้างเที่ยง นั้นเอง

ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ของดอกหงอนนาค หรือน้ำค้างกลางเที่ยง คือ Murdannia giganteum ( Vahl. ) Br.

ลักษณะของดอกตามหลักพฤกษา คือ มีลักษณะออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือปลายยอด ดอกสีม่วงอ่อนหรือม่วงน้ำเงิน สีขาว และสีชมพู ซึ่งค่อนข้างหายาก กลีบดอก 3 กลีบ กลีบตรงกลางด้านบนจะตั้งฉากกับกลีบด้านข้างทั้ง 2 กลีบ ยามเช้าจะหุบดอก แล้วจะบานเมื่อมีแสงแดด ส่วนกลางของดอกมักมีหยดน้ำติดอยู่


ส่วนแหล่งที่พบ ขึ้นบริเวณลานดินทรายที่มีน้ำขังหรือทุ่งหญ้าป่าสนบนภูเขาสูงๆ ที่ชุ่มชื้น จุดที่มีหงอนนาคทุ่งใหญ่ที่สุดของไทยอยู่ที่ภูสอยดาว นอกจากนี้ยังพบได้อีกหลายแห่งเช่น เขาสมอปูน ทุ่งโนนสน เขาใหญ่ และอีกหลายที่

ส่วนช่วงเวลาออกดอก  คือ ส.ค. - ต.ค.

ซึ่งในช่วงที่เราขึ้นไป ปรากฏว่า ฝนทิ้งช่วง แดดดีมาก ไม่มีหมอกให้ชื่นชมเลย แต่ความชื้นบนลานสน ณ ภูสอยดาว ยังคงมีอยู่ จึงเห็นดอกหงอนนาค หรือดอกหงอนเงือก อยู่เป็นทุ่ง แซมกับดอกกระดาษ สีเหลือง อยู่ทั่วลานสน

ความงาม อาจถ่ายทอดมิได้...เท่าที่คุณต้องไปดู และสัมผัสด้วยตัวคุณเอง...

 ทิ้งท้ายกันด้วย ขอท้าคุณผู้กล้า พิชิตลานสน ณ ภูสอยดาว ซึ่งจะต้องเดินเท้าขึ้นเขาเป็นระยะทางประมาณ 6.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 4-6 ชั่วโมง.... รีบไปก่อนนะ ก่อนเข่าจะเสื่อม จำไว้ ตัดสินใจวันนี้ ก่อนวันหน้าจะไม่ได้มีโอกาสไป..... แล้วจะเสียใจ....

-->

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ไป ลันล่า ... กันที่เชียงดาว

ไปลันล่า...กันที่เชียงดาว ...ทริปนี้ ถูกกำหนดขึ้นก่อนวันเดินทาง 28 วัน ให้เตรียมตัวฟิตร่างกาย เตรียมพร้อมกับการเดินป่า 3 วัน 2 คืน ที่ดอยหลวงเชียงดาว โดยงานนี้ได้จ้างไกด์ท้องถิ่น และลูกหาบไป 3 คน พวกเราอีก 4 คน ค่าทัวน์คนละ 2500 บาท (แพงไปนิด แต่ก็เบาตัว เดินแบกแต่กล้องไปถ่ายภาพ เต้นท์ และอาหารทางทัวน์เหมาหมด)

เป้าหมายของทริปนี้ มี 5 เป้าหมาย ด้วยกัน คือ
1. แวะตัวเมือง เชียงดาว ทาน ขาหมูเชียงดาว เจ้าเก่า
2. ตามหาเทียนนกแก้ว ณ ดอยหลวง
3. ถ่ายรูปพระอาทิตย์ตก ณ ยอดดอยหลวงเชียงดาว
4. ถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้น ณ ยอดดอยกิ่วลม
5. ถ่ายทะเลหมอก

เรามาติดตามกันว่า ทริปนี้ เราจะพิชิตเป้าหมาย และลันล่า กันได้ไหม....

การเดินทางจากกรุงเทพเชียงใหม่ด้วยรถทัวน์ VIP สมบัติทัวน์ ราคาตั๋ว เกือบ 900 บาท เบาะใหญ่ นั่งสบายดี ถึงเชียงใหม่ตี 5 เพื่อนร่วมทริปมารับ ขับไปถึงที่ อ.เมืองเชียงดาว ตรงเข้าไปหาร้านขาหมูเจ้าเก่าเชียงดาว ที่อยู่เยื้องกับเซเว่นในเมือง

เซเว่นอยู่ขวามือ ร้านขาหมูเชียงดาว (เจ้าเก่า) อยู่ซ้ายมือ เป็นสูตรดั่งเดิมกว่า 60 ปี รับประกันความอร่อย ชิมมาแล้ว



ต่อไปที่ถ้ำเชียงดาว ไปพบกับทัวน์ไกด์ท้องถิ่น จัดของให้ลูกหาบ และรับอาหารเที่ยง (ข้าวกล้อง) แล้วเตรียมตัวเดินขึ้น plan คราว ๆ เราจะไปกลางเต้นท์กันครึ่งทาง หลังจากนั้นก็เดิน แล้วก็เดิน
-->
เราเดินขึ้นระยะทาง 6.50 กิโลเมตร แต่วันนี้เราจะเดินแค่ 3.5 กิโลเมตร แล้วแวะพัก กางเต้นท์กลางทาง เพื่อให้เต็มอิ่มกับการเก็บภาพ เจ้าเทียนนกแก้วน้อย ๆ ที่น่ารักของเราก่อนถึง ที่กางเต้นท์วันที่สอง คือ จุดกางเต้นท์ อ่างสลุง

ระหว่างทางเดินเราก็เก็บภาพเจ้าเทียนนกแก้ว ได้เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ว่าที่จุดพักแรม มีเป็นต้นใหญ่ เป็นฝูงเทียนนกแก้วทำให้เก็บได้ตอนทั้งตอนเย็น ถึงเช้าวันรุ่งขึ้น 

บริเวณจุดพักแรก คืนแรก มีห้องน้ำที่ทางเจ้าหน้าที่ทำไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น


แต่พวกเราก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปใช้นะ แบบว่า ไม่แน่ใจว่า เปิดเข้าไปจะเห็นอะไร เลยงด ถ่าย(หนัก) ได้แต่เบา ๆ ไว้ก่อนกันทุกคน ระหว่างทางเดิน ก็มีทั้งนก และวิว ที่สวยงาม ประมาณว่า เหนื่อยก็หาเรื่องจอด ถ่าย จอดถ่าย (รูป) กันตลอดทาง เลยรู้สึกว่า เดินคราวนี้ไม่ค่อยเหนื่อยเลยจ้า...

เทียนนกแก้ว ที่บริเวณ ที่พักแรกคืนแรก
 และค่ำคืนนั้นเราก็ได้ฟังเรื่องเล่าของ ดอกเทียนนกแก้ว ดังจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้

เช้านี้....มีเรื่องเล่า เรื่องอ้าง เรื่องแต่ง... จะมาบอก...ถึง..ที่มาของ...ดอกเทียนนกแก้ว ณ ดอยหลวงเชียงดาว......

เมื่อในครั้งหนึ่งที่นานมาแล้ว นานมาก ๆ นานจนเกือบจะลืมไป (เดียวจะไม่มีเรื่องเล่า เลยต้องจำไว้ก่อนลืม) บนยอดดอยแห่งหนึ่ง ที่ปัจจุบันคือ ดอยหลวงเชียงดาว มีต้นเทียนเล็ก ๆ ต้นหนึ่ง ลำต้นเป็นสีเขียวอ่อน ใบสีเขียว อ่อน ไร้ซึ่งสีสรร สดใส เฝ้าเหม่อมอง เหล่าสกุณา นกเล็ก นกใหญ่ ที่บินมาเกาะยอดไ
ม้ หยอกล้อต้นหญ้า และจิกหนอนบนดิน โฉบไป โฉบมา โดยไม่มีแม้สักตัวจะเหลียวมอง เจ้าต้นเทียนน้อยสีเขียวอ่อน ๆ ที่ขึ้นอยู่บนพื้นดี และร่องหินเล็ก ๆ ต้นนี้ .....

เจ้าต้นเทียนน้อย เฝ้าร้อง ภาวนา ขอเหล่าเซียนบนฟ้า บนยอดดอย ให้ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของเหล่าสกุณา นกน้อย ๆ เหล่านั้น ขอเพียงเศษเสี้ยวของความสนใจ ของการเหลียวแลกันบ้าง....

เจ้าต้นเทียนน้อย ภาวนาทุกวัน ทุกเวลา จนใกล้จะหมดเวลาของมัน จนกระทั่งเดือนตุลาคมของปีหนึ่ง....ร่างกายของมันก็เกิดการเปลี่ยนแปลง มันมีตุ๋มเล็ก ๆ งอกขึ้นจากปลายเส้นเล็ก ๆ สีเขียวอ่อน ๆ ใส ๆ ของมัน และเติบโตขึ้น มีสีสรร มีปีก และงดงาม ราวกับนกแก้วตัวน้อย ๆ และพร้อมจะออกโบยบิน แต่สายเล็ก ๆ สีเขียวที่ต่อเชื่อมกับต้นเทียน กับมิอาจหลุดออก และไร้ซึ่งเรี่ยวแรงจะออกบินได้... เจ้าต้นเทียนน้อยพยายามจะออกบินไปนานเป็นเดือน จึงท้อใจ และหมดเรี่ยวแรง แห้งเหี่ยวไป....

แต่เหล่า ผู้กล้า ผู้มาเยือนจากถิ่นใต้ ดินแดนไกล กลับให้ความสนใจ และชื่นชมกับความเปลี่ยนแปลงของ เจ้าต้นเทียนน้อย ... และขนานนามเจ้าเทียนต้นนี้ว่า เจ้า ....เทียนดอกนกแก้ว... ตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา.......




 วิว ระหว่างทางเดินในวันแรก กว่าจะถึงสามแยก ที่มีป้ายบอกทาง ก็ใช้เวลาในการเดินกว่า 3 ชั่วโมง เรียกว่า ใช้เวลาเดินไป พักไป ถ่ายรูปไปตลอดทางเลยค่ะ
 วิว ยอดดอย ทางเดิน บรรยากาศดี เดินสนุก อากาศดีมาก ๆ ชอบที่สุดเลยทริปนี้

 วิว ยอดเขาสามพี่น้อง ดูกันเอาเอง ใครพี่ใหญ่ ใครน้องเล็ก....

ยอดดอยหลวงเชียงดาว จุดดูพระอาทิตย์ตก ที่สวยที่สุดดดดด....งดงาม มาก ๆ เดินขึ้นจากจุดพักแรกอ่างสลุง เป็นระยะทางชัน ชัน และชัน เดินประมาณ 30 - 45 นาทีจ้า...

 แสงอาทิตย์สาดส่อง ขุนเขา เงาไม้ งดงามยิ่งนัก เหมือนพวกเรานั่งอยู่บนสรวงสวรรค์ งดงาม ยากยิ่งจะบรรยายจริง ๆ อยากให้ ชีวิตหนึ่ง ของทุกคน ได้มาเห็นภาพที่งดงามเช่นนี้มาก เลยค่ะ

วิว เส้นทางเดินกลับ ทางเดินลง ก็มีแต่ทางลง ทางลง และก็ทางลง จริง ๆ ต้องดูแลเข่า ข้อเท้าให้ดี ๆ 

ยอดดอยหลวงเชียงดาว ที่ถ่ายตอนเดินลง งดงาม จนไม่อยากจากไปเลยจริง ๆ ...

ก่อนจะออกนอกเรื่องไป เราก็กลับมากับจุดมุ่งหมายของเรากันก่อน ประสบความสำเร็จไปแล้ว 2 จุดมุ่งหมาย คือ ทานขาหมูเชียงดาวเจ้าเก่า และเก็บเจ้าดอกเทียนนกแก้ว ณ ดอยหลวง

ต่อไปคือ ภาพพระอาทิตย์ตก ณ ยอดดอยหลวงเชียงดาว 

ภาพพระอาทิตย์ขึ้น ณ ยอดดอยกิ่วลม

และ ทะเลหมอกบนยอดดอย

มาชมภาพกันได้เลยจ้า.....

ภาพนี้ถ่าย บน ยอดดอยหลวงเชียงดาว พระอาทิตย์ตก แสงสวยงาม และงดงามมาก เกินกว่า ความสามารถของ ญ. ตัวน้อย ๆ จะเก็บภาพมาได้ (แบบว่า... ความสามารถไม่ถึง)

ภาพพระอาทิตย์ขึ้น ณ ยอดดอยกิ่วลม แสงร้อนแรง งดงาม สวยมากจริง ๆ 

และภาพทะเลหมอก ยามเช้า ณ ยอดดอยกิ่วลม ทิศตะวันตก ตรงข้ามกับพระอาทิตย์ขึ้นเลยจ้า

ทะเลหมอก หลัง ดอยสามพี่น้อง แบบว่า เหมือนทะเลจริง ๆ ถ้ากระโดดลงไปว่ายได้คงกระโดยไปแล้ว นุ่มนวล และสวยงามมาก ๆ เกินคำบรรยายจริง ๆเลย

และขอแถมภาพนก น้อย ๆ ที่ บริเวณจุดกางเต้นท์ อ่างสลุง จ้า


เป็นเหล่านกที่น่ารักมากๆ เลยค่ะ ถ้าได้มีโอกาสแวะไป อย่าลืมมองหาพวกเขานะค่ะ อยู่ใกล้ ๆ บินรอบ ๆ เราเลยค่ะ





-->

วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555

ปัญหาเส้นเลือดเทียมสำหรับฟอกไตตัน

การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม สำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง

ปัญหาที่พบบ่อย ก็คือ การตันของเส้นเลือดที่ใช้สำหรับฟอก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานเรื้อรัง นานจนทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรังจนต้องใช้การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เพื่อรักษาชีวิต และให้สามารถดำเนินชีวิตได้ในปัจจุบัน

--> แต่การฟอกเลือดนั้น จำเป็นต้องมีการทำเส้นเลือดสำหรับฟอกเลือดเตรียมไว้ ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานมักมีปัญหาเส้นเลือดจริงนั้น มีภาวะหลอดเลือดแข็ง และเล็กผิดปกติว่าผู้ป่วยอื่น ๆ ส่งผลให้ต้องมีการทำการใส่เส้นเลือดเทียมสำหรับฟอกไต แต่อายุของเส้นเลือดเทียมสำหรับฟอกไตนั้น มีอายุการใช้งานเพียง 1 - 2 ปีเท่านั้น และมักมีปัญหาอาการแทรกซ้อนคือ เส้นอุดตัน หรือเส้นตัน ได้ง่าย เสียงที่เคยดัง ฟู่ ๆ แสดงการไหลเวียนของน้ำเลือดเข้าสู่หลอดเลือดเทียมนั้นเงียบไป... ส่งผลให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดเทียม ทำให้ไม่สามารถฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมได้

--> ภาวะการอุดตันของลิ่มเลือดในหลอดเลือดเทียมสำหรับใช้ฟอกไตนั้น สาเหตุสำคัญที่แพทย์ให้ความใส่ใจมี 2 สาเหตุ หลัก ๆ คือ

1. ภาวะความดันโลหิตต่ำ ส่งผลให้เลือดไหลเข้าสู่หลอดเลือดเทียมน้อย และช้า อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้น และอุดตันในที่สุด
2. การนอนทับแขนขาที่ทำหลอดเลือดเทียม หรือการงอแขน พับแขน ทับแขน หรือการกระทำที่ไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดเข้าสู่หลอดเลือดเทียม ทำให้เลือดจับตัวเป็นลิ่มเลือดในหลอดเลือดเทียมและอุดตันได้ เช่นกัน

ซึ่งผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ที่ต้องทำการผ่าตัดใส่หลอดเลือดเทียมนั้น ต้องคอยระมัดระวังแขนบริเวณนั้น ๆ และออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดี โดยอาจทำการบีบลูกบอล กำลูกบอลยางทุกวัน อย่างน้อย 1000 ครั้ง เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดบริเวณหลอดเลือดเทียม และต้องคอยสังเกต และฟังเสียง ฟู่ ๆ บริเวณหลอดเลือดเทียมทุกวัน เพื่อให้แน่ใจว่ามีเลือดไหลผ่านหลอดเลือดเทียม

ซึ่งหากมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือเสียงเงียบไป ให้ติดต่อหมอประจำตัว หรือไปพบแพทย์ด่วน เพื่อแก้ไขภายในเวลา 24 ชั่วโมง

แต่ในบางกรณีสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ที่ใส่หลอดเลือดเทียมอาจมีการอุดตันของหลอดเลือดเทียมบ่อย ๆ เนื่องจากมีภาวะร่างกายที่ผลิตเกร็ดเลือด หรือมีภาวะเกิดลิ่มเลือดง่าย ทำให้มีโอกาสของหลอดเลือดเทียมตันได้ง่าย แพทย์จึงต้องมีการตรวจร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน และหาสาเหตุของการอุดตันของหลอดเลือดเทียมให้อย่างละเอียด หากมีภาวะของร่างกายผลิตลิ่มเลือดได้ดี ก็ต้องให้ยาสลายลิ่มเลือดทานเพื่อป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดเทียมตัน เพื่อลดภาวะค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย และภาวะสภาพจิตใจ ความกังวลต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

บทความนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์จริง หากผู้ป่วยโรคไตอ่านพบ หรือผู้ดูแลผู้ป่วยขอแนะนำให้ มีการพูดคุยปรึกษากับแพทย์ผู้รักษา อย่างละเอียด ก่อนทำการผ่าตัดทำหลอดเลือดเทียม เพราะปัญหาการอุดตันของหลอดเลือดเทียมมีสูงมาก และค่าใช้จ่ายก็แพงมาก ดังนั้น การพูดคุยเพื่อเตรียมพร้อม และรับรู้ปัญหาที่จะเกิดตามมาจะช่วยให้ทั้งผู้ป่วยและญาติได้ใส่ใจดูแล พร้อมรับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

และหากใครมีประสบการณ์ และแนวทางแก้ไข แนะนำให้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเป็นวิทยาทานกันต่อไปนะค่ะ

--> ข้อแนะนำเล็กน้อย
1. ให้ทานสมุนไพรรสเผ็ดรส ช่วยในการกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตเป็นประจำ (ช่วยได้นิดหน่อย)
เช่น ขิง พริกไทย พริก เป็นต้น
2. ให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเบา ๆ วันละ 10 -30 นาที หรือพอเหนื่อย ให้หัวใจเต้นมากกว่าปกติ 1 เท่า เช่น  ปกติหัวใจเต้น 70 ครั้งต่อนาที ให้ออกกำลังกายให้หัวใจเต้น 140 ครั้งต่อนาที แล้วพัก
3. งดผัก ผลไม้ สีเขียวเข้ม เพราะมีไฟบริโนเจนสูง ทำให้เลือดแข็งตัว หรือเกิดเกร็ดเลือดได้ง่าย ทำให้อุดตัน
4. งดอาหารที่มีไขมันสัตว์ อาหารทอด อาหารผัด หรือเนื้อสัตว์ติดมัน เพราะไขมันจะทำให้เกิดภาวะอุดตัน หรือแคลเซียมเกาะหลอดเลือดทำใหหลอดเลือดแข็งตัว หลอดเลือดตีบได้

วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

เมนูไข่ขาวตุ๋นสำหรับผู้ป่วยโรคไตระยะฟอกเลือด

ผู้ป่วยโรคไตระยะฟอกเลือด จะมีความต้องการโปรตีนในปริมาณสูงกว่าระยะก่อนฟอก โดยเฉพาะโปรตีนอัลบูมิน ที่พบมากในไข่ขาว ดังนั้น แพทย์ประจำตัวของผู้ป่วยจึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยทานไข่ขาวอย่างน้อยวันละ 3 ฟอง เป็นอย่างต่ำ บางครั้งถ้ามีการตรวจเลือดและพบว่าผู้ป่วยขาดอัลบูมินมาก หรือมีปริมาณอัลบูมินต่ำ แพทย์ก็อาจให้ทานมากถึง วันละ 6 ฟอง เลยทีเดียว...

ตกหนักที่ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคไตระยะฟอกเลือด จะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยทานได้มากขึ้น ไม่เบื่ออาหาร การดัดแปลงอาหารเมนูไข่ขาว นอกจาก ต้ม ตุ๋น ทอด ยำ ไข่น้ำ แล้วจะทำอะไรได้อีก วันนี้เราจึงมาแนะนำเมนูสูตรไข่ขาวตุ๋นสูตรหอมอร่อยอย่าบอกใคร ทำง่าย ๆ ได้ดังนี้
-->
ส่วนประกอบ
1. ไข่ขาว  50 กรัม
2. น้ำข้าวต้ม  30 กรัม
3. หอมหัวใหญ่สับ  10 กรัม
4. เนื้ออกไก่ต้มฉีกฝอยเล็กน้อย
5. ซีอิ๋ว 1 ช้อนชา
6. พริกไทยป่นเล็กน้อย
7. ขิงซอยเล็กน้อย

--> วิธีทำ
1. ผสมไข่ขาวกับน้ำข้าวตีให้เข้ากัน เติมหอมหัวใหญ่สับลงไป ปรุงรสด้วยซีอิ๋วและพริกไทย
2. นำไปนึ่งในหม้อต้มที่น้ำเดือดแล้ว สัก 5 นาที
3. โรยหน้าด้วยเนื้ออกไก่ต้ม และขิงซอย นึ่งต่อไปอีก 5 นาที แล้วยกลงเสริฟพร้อมข้าวสวยหอม ๆ

ไข่ขาวตุ๋นที่ได้จะมีความคงตัว และนิ่ม หากเละเกินไปให้ลดปริมาณน้ำข้าวต้มลง สามารถดัดแปลงเติมเนื้อปลาสีขาวลงในไข่ตุ๋นได้อีกด้วย หรือจะโรยด้วยหอมเจียวเล็กน้อยก็หอมอร่อยจ้า


วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

แนะนำสูตรอาหารจากไข่ขาวสำหรับคนโรคไตวายเรื้อรังในระยะฟอกไต

สำหรับเมนูอาหารจากไข่ขาวสำหรับคนโรคไตวายเรื้อรัง  ระยะฟอกไต นั้น ทางการแพทย์ระบุให้ ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะนี้ มีการเสริมโปรตีนจากเนื้อปลา และไข่ขาว ให้มากขึ้น เนื่องจากการกรองเลือดผ่านระบบไตเทียมนั้น จะมีการกรองเอาโปรตีนออกจากไปจากเลือดจำนวนมาก และทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคขาดโปรตีน ส่งผลให้กล้ามเนื้อของผู้ป่วยถูกย่อยดึงเอาโปรตีนออกมาใช้ ดังนั้น

ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะฟอกไต จึงจำเป็นต้องมีการกินโปรตีนดี ๆ เสริมเข้าไป ซึ่งแพทย์ก็ระบุไว้ว่า แหล่งโปรตีนเสริมที่ดี ได้แก่ ไข่ขาว และเนื้อปลา

สำหรับเมนูจากเนื้อปลา คงไม่ต้องเป็นห่วงนัก แต่เมนูไข่ขาวละ จะเอาไปทำอะไรกันดี ที่เป็นอาหารสำหรับผู่้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ที่มีการคุมทั้งความเค็ม (โซเดียม) คุมธาตุอาหาร ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โซเดียม แล้วจะทำอะไรกินดีนะ...

--> จากประสบการของผู้เขียน คุณพ่อเป็นโรคไตวายเรื้อรังในช่วงแรกที่ทำการฟอกไต ก็ประสบปัญหาเช่นนี้เช่นกัน ไม่รู้จะทำอะไรให้ทานดี ทำแต่อาหารซ้ำ ๆ น่าเบื่อ พานทำให้ผู้ป่วย(คุณพ่อ) ก็เบื่ออาหารมากขึ้น (โรคนี้ก็ทำให้เบื่ออาหารอยู่แล้ว) จากการค้นคว้า ก็ได้เมนูนี้มาแนะนำ กัน 2 เมนูนะค่ะ
-->
เมนูที่หนึ่ง. แกงจืดไข่ขาว

ส่วนประกอบ

1. ไข่ขาว 1 ฟอง
2. เนื้อปลากะพง  30 กรัม
3. ผักกาดขาว  30 กรัม
4. วุ้นเส้น (พอประมาณ)
5. กระเทียม 1 กลีบ
6. พริกไทยป่น
7. รากผักชี
8. ซีอิ้วขาว 1 ช้อนชา
9. น้ำสะอาด 300 มล.

วิธีทำ
1. แยกไข่ขาวออกจากไข่แดง (ทิ้งไข่แดง)ไป ตีไข่ขาวให้ขึ้นฟูเล็กน้อย
2. น้ำเนื้อปลามาสับให้ละเอียด พักไว้
3. สับกระเทียม รากผักชี ให้เข้ากัน แล้วใส่ลงในเนื้อปลาที่สับ แต่งรสด้วยพริกไทยป่น และซีอิ้วขาว นวดให้เข้ากัน จนเหนียว พักไว้
4. นำวุ้นเส้นมาหั่นให้เป็นเส้นเล็ก ๆ แช่น้ำไว้
5. ตั้งน้ำ เติมรากผักชีทุบลงไป เมื่อน้ำเดือด เติมเนื้อปลาที่ปรุงรสไว้ ปั่นเป็นก้อนเล็ก ๆ พอคำใส่ลงไปพอสุก ตักออก
6. ใส่ผักกาดขาว หั่นพอคำ ลงไปในน้ำเดือด และใส่วุ้นเส้นที่เตรียมไว้ไป
7. แล้วเทไข่ขาวลงไป คนให้ทั่ว ปิดไฟ ยกลง แล้วเติมเนื้อปลาที่ตักไว้ลงไป
8. พร้อมเสิรฟกับข้าวสวยร้อน ๆ ช่วยให้เจริญอาหาร

เมนูที่สอง เส้นบุกผัดไข่

ส่วนประกอบ
1. ไข่ขาว 1 ฟอง
2. เส้นบุกแบบเส้น  20 กรัม (แช่น้ำไว้)
3.กระเทียมสับ 1 กลีบ
4. เนื้อปลากระพง 20 กรัม
5. พริกไทยดำเม็ด
6. ขิงอ่อนเล็กน้อย
7. ซีอิ้วขาว 1 ช้อนชา
8. หัวหอมใหญ่ 1/4 หัวหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ
9. น้ำมันงา 1 ช้อนชา

วิธีทำ
1. ผัดน้ำมันงากับกระเทียมให้หอม เติมเนื้อปลากระพงที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ลงไป
2. ใส่เม็ดพริกไทยดำ และพริกไทยป่น และซีอิ้วขาว ปรุงรส
3. แล้วใส่ขิง และหัวหอมใหญ่สับลงไป คลุกให้หัวหอมสุก
4. เติมเส้นบุกแบบเส้น และไข่ขาวลงไปผัดให้เข้ากัน แล้วยกลง
5. เสริฟเป็นอาหารจานหลัก ลดไขมัน เสริมโปรตีนได้ดี

เป็นยังไงบ้างค่ะ ลองทำทานดูนะค่ะ รสชาดจนอร่อยหรือไม่ เน้นว่าควรหมักเนื้อปลาไว้ก่อน และให้มีรสอ่อน จากธรรมชาติค่ะ

กลิ่นหอมน่ารับประทานมากเลยค่ะ  สู้ ๆ กันต่อไปนะค่ะ สำหรับคนที่ดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ก็ต้องอดทนนะค่ะ

วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

รู้เมื่อสาย เบาหวานทำลายตา ทำลายไต

รู้เมื่อสาย เบาหวานทำลายไต.....

เรื่องเล่านี้เป็นประสบการณ์จริงของครอบครัวฉัน อยากเล่าไว้เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนใจ หรือจุดประเด็นความสงสัยสักนิดเพื่อคนที่คุณรักจะได้อยู่กับคุณไปนาน ๆ

เมื่อครั้งคุณพ่ออายุประมาณ 38 ปี ตรวจพบว่าเป็นเบาหวานครั้งแรก ด้วยการที่คุณพ่อเป็นเภสัชกร จึงทานยาในการรักษาตนเอง ยาที่คุณหมอให้คุณพ่อรู้ดี และทานเอง ลูก ๆ ไม่ต้องเป็นห่วง จนฉันเรียนจบ เข้าทำงาน ต้องไปทำงานต่างจังหวัด กลับมาเดือนละครั้ง คุณพ่อเริ่มมีอาการเดินเอียง ๆ ความรู้สึกช้า ขึ้นลงรถหัวก็ชนขอบประตู พอถาม ก็บอกว่า ตามองไม่ค่อยชัด ฉันก็บอกว่าให้ไปให้หมอซิ .... คุยกันเรื่องนี้ทีไร ก็จะจบลงที่ฉันบอกให้ไปหาหมอซิ

จนกระทั่งคุณพ่อเริ่มมีอาการบวมตามขา และแขน มากขึ้น เบื่ออาหาร ตามองไม่เห็น ตาพร่า สู้แสงไม่ได้ ฉันจึงลาหยุดงาน พาคุณพ่อไปตรวจเบาหวานขึ้นสูงถึง 200 ค่าความดัน 240/120 ทำให้คุณหมอตกใจมาก และให้เข้าโรงพยาบาลด่วน นอนโรงพยาบาลไปเพื่อปรับความดันให้ลง 2 คืน แล้วกลับบ้าน ความดันก็ลงมาได้เหลือ 160/90 และไปตรวจตา ด้วยสิทธิบัตรทอง ได้ทำการเลเซอร์ต้อกระจกทั้งสองข้าง แต่ก็การมองเห็นไม่ชัด มองจึงให้ผ่าเปลี่ยนกระจกตา 1 ข้าง ผ่าไปครั้งแรกเนื่องจากเบาหวานขึ้นตา กระจกตาที่ใช้จึงไม่เข้ากัน ต้องสั่งทำกระจกตาพิเศษ ผ่าตัดไปก็มองไม่เห็นเหมือนเดิม โรงพยาบาลส่งต่อไปโรงพยาบาลวัดไร่ขิงต่อ ปรากฏว่าวุ้นประสาทตาเสื่อม ต้องผ่าตัดอีกครั้ง หลังผ่าตัดมา 2 ปี ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน ตาคุณพ่อมองไม่เห็นไป 1 ข้าง เพื่อรักษาอีกข้าง ที่บ้านจึงพยายามควบคุมเบาหวาน ซื้อเครื่องตรวจเบาหวานมาตรวจทุกอาทิตย์ หลังจากนั้นผ่านมาอีก 2 ปี ความไว้วางใจว่าคุมเบาหวานอยู่ คุณพ่อก็เริ่มทานอาหารตามแบบที่ชอบ ตามใจตัวเองมากขึ้น จนกระทั่ง...

ในงานเลี้ยงอาหาร คุณพ่อเป็นหน้ามืด ล้มลงไป วัดความดันต่ำมาก น้ำตาลก็ต่ำ ทำให้มีการบำรุงคุณพ่อด้วยอาหารต่าง ๆ และตามใจกันมาก หลังจากนั้นคุณพ่อก็ลาออกจากงานมาพักที่บ้าน และไปตรวจเบาหวาน และความดันด้วยบัตรทองตลอดทุก ๆ เดือน จนผ่านไป 1 ปี เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพ ที่บ้านโดนน้ำท่วมติดน้ำอยู่นานกว่า 2 เดือน ขาดการดูแล และยากิน หลังจากนั้นอีก 2 เดือน คุณพ่อก็มีอาการหน้ามืด น้ำตาลต่ำ แต่ความดันสูง อยู่ตลอดทุกครั้งที่มีการตรวจ และมีอาการเหนื่อยง่าย นอนหลับช่วงกลางวันบ่อย ๆ ไม่ยากอาหาร ชวนไปทานอาหารก็ไม่ค่อยทาน เบื่อ ๆ เซ็ง ๆ หงุดหงิดง่าย ขี้ใจน้อย คุยกันพูดกัน ก็ทะเลาะกันบ่อย ๆ และมีอาการบวมทีเท้า เวลาไปตรวจด้วยสิทธิ์บัตรทอง ก็ให้บอกหมอ แต่คำตอบกลับมา คุณพ่อบอกว่า หมอบอกว่าเป็นอาการข้างเคียงของยาความดัน ไม่เป็นไรหรอก...

ด้วยความหวังดี เราก็เลยพาคุณพ่อไปต่างจังหวัดเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ ปรากฏว่า คุณพ่อเหนื่อยง่าย ไม่มีแรง ทานอาหารไม่ลง เบลอ ๆ งง ๆ นั่งรถไปก็หลับแบบเหมือนสลบ เราก็ดูแล้วว่าอาการไม่ดีเลย เลยคิดว่าจะพาไปตรวจสุขภาพ หลังจากกลับจากต่างจังหวัดมา 1 อาทิตย์เลยพาคุณพ่อไปตรวจสุขภาพสำหรับเบาหวานที่โรงพยาบาลเมโย ปรากฏว่า ค่าของเสียในเลือดสูงถึง 120 และพบไข่ขาวในปัสสาวะ คุณหมออายุเวชก็ให้ไปพบคุณหมอโรคไต คุณหมอโรคไต บอกว่าคุณพ่อเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ต้องทำการฟอกเลือดด่วน ไม่งั้นไม่เกิน 1 เดือน จะเสียชีวิต ณ เวลานั้น คุณพ่อ และเรา ต่างก็ช็อกไป หาเสียงตัวเองแทบไม่เจอะ จนคุณพ่อเอ่ยขึ้นมาว่า ... ขอกลับบ้านไปตัดสินใจก่อน แล้วเราก็พาคุณพ่อกลับบ้าน และพาไปตรวจซ้ำกับที่โรงพยาบาลนนท์เวช ก็ได้ผลเหมือนกัน และทำการสแกนไต ก็พบว่าบางส่วนถูกทำลายแล้ว หมอที่นนทเวชก็อยากให้ทำการฟอกเลือดทันทีเหมือนกัน

แต่ทางคุณพ่อขอเวลาตัดสินใจ และขอปรึกษากับทางโภชนากรก่อนว่าระหว่างนี้ต้องทำอย่างไร....

หลังจากนั้นเรากับคุณพ่อก็กลับมาบ้าน ค้นคว้าเรื่อง ไตวายเรื้อรัง ก็พบว่า มีข้อมูลมากมาย ที่บ่งบอกว่า เบาหวาน และความดัน เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ไตเสื่อม และควรมีการตรวจการทำงานของไตอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ 6 เดือน หลังจากเป็นเบาหวานนานกว่า 10 ปี และข้อมูลต่าง ๆ อีกมากมาย ที่ทำให้เราอยากจะพูดว่า "รู้เมื่อสาย...."

ทำไหม หมอที่ดูแลคุณพ่อเรื่องเบาหวาน ไม่เคยใส่ใจ หรือเตือนให้เราหรือคุณพ่อระมัดระวังเรื่องไตเลย หรือทำไหม เราไม่เคยจะใส่ใจหรือสนใจเรื่องไตเลย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า เป็นเบาหวานแล้วจะตามมาด้วยโรคไต....

บทความนี้ อาจเป็นเหมือนการบ่น การระบาย แต่อยากให้เพื่อน ๆ หรือคนที่อ่าน ได้ฉุกคิด และใส่ใจ ก่อนจะรู้เมื่อสายไปเหมือนของเรากับคุณพ่อ...

จงจำไว้ว่า เมื่อคุณหรือคนที่รักเป็นเบาหวาน นอกจากตรวจเบาหวานแล้วให้ตรวจ ความดัน ถ้ามีแนวโน้มความดันสูงด้วย ให้ตรวจปัสสาวะ ดูค่าโปรตีน หรือดูว่าปัสสาวะขุ่นหรือเปล่า และทำการตรวจติดตามการทำงานของไตทุก ๆ ปี และหากวันใด เบาหวานขึ้นตา หรือมีค่าเบาหวานลงลด ระดับเบาหวานแกว่ง เดียวสูง เดียวต่ำ ให้เริ่มกังวนและใส่ใจได้แล้วว่า ไตมีการทำงานที่ผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์แล้วตรวจสอบการทำงานของไตด่วน หากคุณรู้ก่อนว่า มีภาวะไตเสื่อมเรื้อรังแล้ว ในระยะแรก ๆ คุณสามารถดูแลผู้ป่วยและตัวคุณเองด้วย โภชนาการบำบัด เพื่อชะลอและช่วยไตไม่ให้ต้องถูกทำลายเร็วได้ แต่สำหรับคุณพ่อ เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายแล้ว...คำตอบเดียวของหมอแผนปัจจุบันคือ ต้องฟอกไต...เท่านั้น

แล้วแพทย์ทางเลือกละ การแพทย์แบบองค์รวมละ การใช้ธรรมชาติบำบัดละ....สำหรับโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย...ช่วยไม่ให้ฟอกไตได้ไหม... เป็นคำถามที่เราจะต้องหาคำตอบต่อไป...

วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

นกเค้าจุดคู่รัก ณ วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร

วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จ.นนทบุรี ตั้งอยู่ที่ซอยเฉลิมพระเกียรติ 15 เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2390 เพื่อถวายพระอัยกา พระอัยกีและสมเด็จพระราชชนนี มาสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายในเขตพระอารามมีความสงบ สะอาด ร่มรื่น ศิลปะสถาปัตยกรรมอนุรักษ์รูปแบบเดิม ๆ


เหมาะสำหรับไปพักผ่อน ไหว้พระ ชมสถาปัตยกรรมสมัยโบราณ หรือจะไปชมนก ดูนก ก็ได้ มีนกมากมายหลายชนิดที่พบที่วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหารนี้

รูปปั้นช้าง และสัตว์ต่าง ๆ ที่วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร


นกแขกเต้า ที่วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร

นกที่เป็นที่รู้จักกันมากสำหรับการมาดูนกที่ วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร ก็คือ นกเค้าจุด และนกแขกเต้า....
นกเค้าจุด ในโพรง ยืนหลับอยู่ค่ะ

โดยเฉพาะนกเค้าจุดคู่รัก ที่อยู่คู่กับวัดมาหลายปี จากการพูดคุยกับชาวบ้านก็เล่าว่า... เห็นนกเค้าจุดมาทำรังที่นี้อยู่ทุกปี หลาย ๆ คู่ นานกว่า 10 ปีแล้ว และนกแขกเต้าก็มีมากมาย บินไป บินมาอยู่ที่วัด ไม่ได้ไปไหน แต่หลังน้ำท่วมก็พบว่า นกแขกเต้ามีจำนวนน้อยลง เช่นกัน


แต่วันนีั้เราจะมาเล่าถึงแต่เรื่องของ นกเค้าจุด กันว่า เป็นนกแบบไหนกันนะค่ะ
นกเค้าจุด (Spotted Owlet, Athene brama) เป็นนกจำพวกนกเค้าแมวชนิดหนึ่ง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่สามารถพบได้ในประเทศไทย มีลักษณะส่วนหัวกลม มีจุดสังเกตอยู่ที่ขนคิ้วสีขาวที่เห็นได้เด่นชัด หัวค่อนข้างแบน บริเวณหัวจนถึงท้ายทอยสีน้ำตาลมีจุดเล็ก ๆ สีขาวประทั่วไป บริเวณตัวด้านบนซึ่งเป็นสีน้ำตาลก็มีจุด แต่จะมีขนาดใหญ่และกระจายมากกว่าบริเวณหัว บางทีใหญ่และเรียงตัวกันดูคล้ายบั้งมากกว่าจุด โดยเฉพาะด้านหลังคอที่จะเรียงตัวต่อกันคล้ายปลอกคอ ด้านล่างของลำตัวสีขาว แต่มีลายจุดสีน้ำตาลเช่นเดียวกัน นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน แต่ตัวเมียมักตัวใหญ่กว่าตัวผู้ ขนาดตัวโตเต็มที่ 20 เซนติเมตร ออกหากินเวลากลางคืน จับแมลง หนู และนกขนาดเล็ก เป็นอาหาร จะผสมพันธ์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน (ช่วงเวลานี้จึงมักพบเป็นคู่อยู่ตามโพรงบนต้นไม้ใหญ่) ออกไข่ครั้งละ 3 - 4ฟอง เลี้ยงลูกนานถึง 35 - 40 วัน จึงปล่อยออกจากรังได้ (อยากเห็นลูกนก ให้มาดูช่วงเดือน พฤษภาคม - กรกฏาคม) โดยทั้งพ่อนก และแม่นกจะช่วยกันเลี้ยงลูก
ยืนหาว... น่ารักจริง ๆ 

เล่าประวัติไปคราว ๆ แล้ว เราลองมาชมภาพ นกเค้าจุดคู่รัก ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2555 นี้กันเถอะค่ะ

 เป็นคู่ที่รักกันมากค่ะ ตัวผู้มักออกมายืนตากแดด ตากลม ให้ตัวเมียพักผ่อนในโพรง นาน ๆ ที ตัวเมียก็จะโผล่ออกมา แล้วแสดงภาพหวาน ๆ ให้เราได้เห็น เขาจะผลัดกันจุ๊บ ไซร์ หอม กันตลอดเวลา รักกันมาก ๆ
 ตัวผู้จุ๊บตัวเมีย อย่าชื่นใจ ทีเดียว
ภาพนี้ก็หอมแก้ม นาน ๆ ทำเอาช่างภาพอิจฉา กันไปเลยค่ะ
แล้วก็มีเป็นภาพวีดีโอให้ชมกันนะค่ะ

ในที่สุด เจ้าสองตัวนี้ ก็มีลูกแล้วค่ะ มาชมความน่ารักของลูกเจ้านกเค้าจุดกันนะค่ะ