วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

เมนูไข่ขาวตุ๋นสำหรับผู้ป่วยโรคไตระยะฟอกเลือด

ผู้ป่วยโรคไตระยะฟอกเลือด จะมีความต้องการโปรตีนในปริมาณสูงกว่าระยะก่อนฟอก โดยเฉพาะโปรตีนอัลบูมิน ที่พบมากในไข่ขาว ดังนั้น แพทย์ประจำตัวของผู้ป่วยจึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยทานไข่ขาวอย่างน้อยวันละ 3 ฟอง เป็นอย่างต่ำ บางครั้งถ้ามีการตรวจเลือดและพบว่าผู้ป่วยขาดอัลบูมินมาก หรือมีปริมาณอัลบูมินต่ำ แพทย์ก็อาจให้ทานมากถึง วันละ 6 ฟอง เลยทีเดียว...

ตกหนักที่ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคไตระยะฟอกเลือด จะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยทานได้มากขึ้น ไม่เบื่ออาหาร การดัดแปลงอาหารเมนูไข่ขาว นอกจาก ต้ม ตุ๋น ทอด ยำ ไข่น้ำ แล้วจะทำอะไรได้อีก วันนี้เราจึงมาแนะนำเมนูสูตรไข่ขาวตุ๋นสูตรหอมอร่อยอย่าบอกใคร ทำง่าย ๆ ได้ดังนี้
-->
ส่วนประกอบ
1. ไข่ขาว  50 กรัม
2. น้ำข้าวต้ม  30 กรัม
3. หอมหัวใหญ่สับ  10 กรัม
4. เนื้ออกไก่ต้มฉีกฝอยเล็กน้อย
5. ซีอิ๋ว 1 ช้อนชา
6. พริกไทยป่นเล็กน้อย
7. ขิงซอยเล็กน้อย

--> วิธีทำ
1. ผสมไข่ขาวกับน้ำข้าวตีให้เข้ากัน เติมหอมหัวใหญ่สับลงไป ปรุงรสด้วยซีอิ๋วและพริกไทย
2. นำไปนึ่งในหม้อต้มที่น้ำเดือดแล้ว สัก 5 นาที
3. โรยหน้าด้วยเนื้ออกไก่ต้ม และขิงซอย นึ่งต่อไปอีก 5 นาที แล้วยกลงเสริฟพร้อมข้าวสวยหอม ๆ

ไข่ขาวตุ๋นที่ได้จะมีความคงตัว และนิ่ม หากเละเกินไปให้ลดปริมาณน้ำข้าวต้มลง สามารถดัดแปลงเติมเนื้อปลาสีขาวลงในไข่ตุ๋นได้อีกด้วย หรือจะโรยด้วยหอมเจียวเล็กน้อยก็หอมอร่อยจ้า


วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

แนะนำสูตรอาหารจากไข่ขาวสำหรับคนโรคไตวายเรื้อรังในระยะฟอกไต

สำหรับเมนูอาหารจากไข่ขาวสำหรับคนโรคไตวายเรื้อรัง  ระยะฟอกไต นั้น ทางการแพทย์ระบุให้ ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะนี้ มีการเสริมโปรตีนจากเนื้อปลา และไข่ขาว ให้มากขึ้น เนื่องจากการกรองเลือดผ่านระบบไตเทียมนั้น จะมีการกรองเอาโปรตีนออกจากไปจากเลือดจำนวนมาก และทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคขาดโปรตีน ส่งผลให้กล้ามเนื้อของผู้ป่วยถูกย่อยดึงเอาโปรตีนออกมาใช้ ดังนั้น

ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะฟอกไต จึงจำเป็นต้องมีการกินโปรตีนดี ๆ เสริมเข้าไป ซึ่งแพทย์ก็ระบุไว้ว่า แหล่งโปรตีนเสริมที่ดี ได้แก่ ไข่ขาว และเนื้อปลา

สำหรับเมนูจากเนื้อปลา คงไม่ต้องเป็นห่วงนัก แต่เมนูไข่ขาวละ จะเอาไปทำอะไรกันดี ที่เป็นอาหารสำหรับผู่้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ที่มีการคุมทั้งความเค็ม (โซเดียม) คุมธาตุอาหาร ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โซเดียม แล้วจะทำอะไรกินดีนะ...

--> จากประสบการของผู้เขียน คุณพ่อเป็นโรคไตวายเรื้อรังในช่วงแรกที่ทำการฟอกไต ก็ประสบปัญหาเช่นนี้เช่นกัน ไม่รู้จะทำอะไรให้ทานดี ทำแต่อาหารซ้ำ ๆ น่าเบื่อ พานทำให้ผู้ป่วย(คุณพ่อ) ก็เบื่ออาหารมากขึ้น (โรคนี้ก็ทำให้เบื่ออาหารอยู่แล้ว) จากการค้นคว้า ก็ได้เมนูนี้มาแนะนำ กัน 2 เมนูนะค่ะ
-->
เมนูที่หนึ่ง. แกงจืดไข่ขาว

ส่วนประกอบ

1. ไข่ขาว 1 ฟอง
2. เนื้อปลากะพง  30 กรัม
3. ผักกาดขาว  30 กรัม
4. วุ้นเส้น (พอประมาณ)
5. กระเทียม 1 กลีบ
6. พริกไทยป่น
7. รากผักชี
8. ซีอิ้วขาว 1 ช้อนชา
9. น้ำสะอาด 300 มล.

วิธีทำ
1. แยกไข่ขาวออกจากไข่แดง (ทิ้งไข่แดง)ไป ตีไข่ขาวให้ขึ้นฟูเล็กน้อย
2. น้ำเนื้อปลามาสับให้ละเอียด พักไว้
3. สับกระเทียม รากผักชี ให้เข้ากัน แล้วใส่ลงในเนื้อปลาที่สับ แต่งรสด้วยพริกไทยป่น และซีอิ้วขาว นวดให้เข้ากัน จนเหนียว พักไว้
4. นำวุ้นเส้นมาหั่นให้เป็นเส้นเล็ก ๆ แช่น้ำไว้
5. ตั้งน้ำ เติมรากผักชีทุบลงไป เมื่อน้ำเดือด เติมเนื้อปลาที่ปรุงรสไว้ ปั่นเป็นก้อนเล็ก ๆ พอคำใส่ลงไปพอสุก ตักออก
6. ใส่ผักกาดขาว หั่นพอคำ ลงไปในน้ำเดือด และใส่วุ้นเส้นที่เตรียมไว้ไป
7. แล้วเทไข่ขาวลงไป คนให้ทั่ว ปิดไฟ ยกลง แล้วเติมเนื้อปลาที่ตักไว้ลงไป
8. พร้อมเสิรฟกับข้าวสวยร้อน ๆ ช่วยให้เจริญอาหาร

เมนูที่สอง เส้นบุกผัดไข่

ส่วนประกอบ
1. ไข่ขาว 1 ฟอง
2. เส้นบุกแบบเส้น  20 กรัม (แช่น้ำไว้)
3.กระเทียมสับ 1 กลีบ
4. เนื้อปลากระพง 20 กรัม
5. พริกไทยดำเม็ด
6. ขิงอ่อนเล็กน้อย
7. ซีอิ้วขาว 1 ช้อนชา
8. หัวหอมใหญ่ 1/4 หัวหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ
9. น้ำมันงา 1 ช้อนชา

วิธีทำ
1. ผัดน้ำมันงากับกระเทียมให้หอม เติมเนื้อปลากระพงที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ลงไป
2. ใส่เม็ดพริกไทยดำ และพริกไทยป่น และซีอิ้วขาว ปรุงรส
3. แล้วใส่ขิง และหัวหอมใหญ่สับลงไป คลุกให้หัวหอมสุก
4. เติมเส้นบุกแบบเส้น และไข่ขาวลงไปผัดให้เข้ากัน แล้วยกลง
5. เสริฟเป็นอาหารจานหลัก ลดไขมัน เสริมโปรตีนได้ดี

เป็นยังไงบ้างค่ะ ลองทำทานดูนะค่ะ รสชาดจนอร่อยหรือไม่ เน้นว่าควรหมักเนื้อปลาไว้ก่อน และให้มีรสอ่อน จากธรรมชาติค่ะ

กลิ่นหอมน่ารับประทานมากเลยค่ะ  สู้ ๆ กันต่อไปนะค่ะ สำหรับคนที่ดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ก็ต้องอดทนนะค่ะ

วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

รู้เมื่อสาย เบาหวานทำลายตา ทำลายไต

รู้เมื่อสาย เบาหวานทำลายไต.....

เรื่องเล่านี้เป็นประสบการณ์จริงของครอบครัวฉัน อยากเล่าไว้เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนใจ หรือจุดประเด็นความสงสัยสักนิดเพื่อคนที่คุณรักจะได้อยู่กับคุณไปนาน ๆ

เมื่อครั้งคุณพ่ออายุประมาณ 38 ปี ตรวจพบว่าเป็นเบาหวานครั้งแรก ด้วยการที่คุณพ่อเป็นเภสัชกร จึงทานยาในการรักษาตนเอง ยาที่คุณหมอให้คุณพ่อรู้ดี และทานเอง ลูก ๆ ไม่ต้องเป็นห่วง จนฉันเรียนจบ เข้าทำงาน ต้องไปทำงานต่างจังหวัด กลับมาเดือนละครั้ง คุณพ่อเริ่มมีอาการเดินเอียง ๆ ความรู้สึกช้า ขึ้นลงรถหัวก็ชนขอบประตู พอถาม ก็บอกว่า ตามองไม่ค่อยชัด ฉันก็บอกว่าให้ไปให้หมอซิ .... คุยกันเรื่องนี้ทีไร ก็จะจบลงที่ฉันบอกให้ไปหาหมอซิ

จนกระทั่งคุณพ่อเริ่มมีอาการบวมตามขา และแขน มากขึ้น เบื่ออาหาร ตามองไม่เห็น ตาพร่า สู้แสงไม่ได้ ฉันจึงลาหยุดงาน พาคุณพ่อไปตรวจเบาหวานขึ้นสูงถึง 200 ค่าความดัน 240/120 ทำให้คุณหมอตกใจมาก และให้เข้าโรงพยาบาลด่วน นอนโรงพยาบาลไปเพื่อปรับความดันให้ลง 2 คืน แล้วกลับบ้าน ความดันก็ลงมาได้เหลือ 160/90 และไปตรวจตา ด้วยสิทธิบัตรทอง ได้ทำการเลเซอร์ต้อกระจกทั้งสองข้าง แต่ก็การมองเห็นไม่ชัด มองจึงให้ผ่าเปลี่ยนกระจกตา 1 ข้าง ผ่าไปครั้งแรกเนื่องจากเบาหวานขึ้นตา กระจกตาที่ใช้จึงไม่เข้ากัน ต้องสั่งทำกระจกตาพิเศษ ผ่าตัดไปก็มองไม่เห็นเหมือนเดิม โรงพยาบาลส่งต่อไปโรงพยาบาลวัดไร่ขิงต่อ ปรากฏว่าวุ้นประสาทตาเสื่อม ต้องผ่าตัดอีกครั้ง หลังผ่าตัดมา 2 ปี ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน ตาคุณพ่อมองไม่เห็นไป 1 ข้าง เพื่อรักษาอีกข้าง ที่บ้านจึงพยายามควบคุมเบาหวาน ซื้อเครื่องตรวจเบาหวานมาตรวจทุกอาทิตย์ หลังจากนั้นผ่านมาอีก 2 ปี ความไว้วางใจว่าคุมเบาหวานอยู่ คุณพ่อก็เริ่มทานอาหารตามแบบที่ชอบ ตามใจตัวเองมากขึ้น จนกระทั่ง...

ในงานเลี้ยงอาหาร คุณพ่อเป็นหน้ามืด ล้มลงไป วัดความดันต่ำมาก น้ำตาลก็ต่ำ ทำให้มีการบำรุงคุณพ่อด้วยอาหารต่าง ๆ และตามใจกันมาก หลังจากนั้นคุณพ่อก็ลาออกจากงานมาพักที่บ้าน และไปตรวจเบาหวาน และความดันด้วยบัตรทองตลอดทุก ๆ เดือน จนผ่านไป 1 ปี เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพ ที่บ้านโดนน้ำท่วมติดน้ำอยู่นานกว่า 2 เดือน ขาดการดูแล และยากิน หลังจากนั้นอีก 2 เดือน คุณพ่อก็มีอาการหน้ามืด น้ำตาลต่ำ แต่ความดันสูง อยู่ตลอดทุกครั้งที่มีการตรวจ และมีอาการเหนื่อยง่าย นอนหลับช่วงกลางวันบ่อย ๆ ไม่ยากอาหาร ชวนไปทานอาหารก็ไม่ค่อยทาน เบื่อ ๆ เซ็ง ๆ หงุดหงิดง่าย ขี้ใจน้อย คุยกันพูดกัน ก็ทะเลาะกันบ่อย ๆ และมีอาการบวมทีเท้า เวลาไปตรวจด้วยสิทธิ์บัตรทอง ก็ให้บอกหมอ แต่คำตอบกลับมา คุณพ่อบอกว่า หมอบอกว่าเป็นอาการข้างเคียงของยาความดัน ไม่เป็นไรหรอก...

ด้วยความหวังดี เราก็เลยพาคุณพ่อไปต่างจังหวัดเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ ปรากฏว่า คุณพ่อเหนื่อยง่าย ไม่มีแรง ทานอาหารไม่ลง เบลอ ๆ งง ๆ นั่งรถไปก็หลับแบบเหมือนสลบ เราก็ดูแล้วว่าอาการไม่ดีเลย เลยคิดว่าจะพาไปตรวจสุขภาพ หลังจากกลับจากต่างจังหวัดมา 1 อาทิตย์เลยพาคุณพ่อไปตรวจสุขภาพสำหรับเบาหวานที่โรงพยาบาลเมโย ปรากฏว่า ค่าของเสียในเลือดสูงถึง 120 และพบไข่ขาวในปัสสาวะ คุณหมออายุเวชก็ให้ไปพบคุณหมอโรคไต คุณหมอโรคไต บอกว่าคุณพ่อเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ต้องทำการฟอกเลือดด่วน ไม่งั้นไม่เกิน 1 เดือน จะเสียชีวิต ณ เวลานั้น คุณพ่อ และเรา ต่างก็ช็อกไป หาเสียงตัวเองแทบไม่เจอะ จนคุณพ่อเอ่ยขึ้นมาว่า ... ขอกลับบ้านไปตัดสินใจก่อน แล้วเราก็พาคุณพ่อกลับบ้าน และพาไปตรวจซ้ำกับที่โรงพยาบาลนนท์เวช ก็ได้ผลเหมือนกัน และทำการสแกนไต ก็พบว่าบางส่วนถูกทำลายแล้ว หมอที่นนทเวชก็อยากให้ทำการฟอกเลือดทันทีเหมือนกัน

แต่ทางคุณพ่อขอเวลาตัดสินใจ และขอปรึกษากับทางโภชนากรก่อนว่าระหว่างนี้ต้องทำอย่างไร....

หลังจากนั้นเรากับคุณพ่อก็กลับมาบ้าน ค้นคว้าเรื่อง ไตวายเรื้อรัง ก็พบว่า มีข้อมูลมากมาย ที่บ่งบอกว่า เบาหวาน และความดัน เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ไตเสื่อม และควรมีการตรวจการทำงานของไตอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ 6 เดือน หลังจากเป็นเบาหวานนานกว่า 10 ปี และข้อมูลต่าง ๆ อีกมากมาย ที่ทำให้เราอยากจะพูดว่า "รู้เมื่อสาย...."

ทำไหม หมอที่ดูแลคุณพ่อเรื่องเบาหวาน ไม่เคยใส่ใจ หรือเตือนให้เราหรือคุณพ่อระมัดระวังเรื่องไตเลย หรือทำไหม เราไม่เคยจะใส่ใจหรือสนใจเรื่องไตเลย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า เป็นเบาหวานแล้วจะตามมาด้วยโรคไต....

บทความนี้ อาจเป็นเหมือนการบ่น การระบาย แต่อยากให้เพื่อน ๆ หรือคนที่อ่าน ได้ฉุกคิด และใส่ใจ ก่อนจะรู้เมื่อสายไปเหมือนของเรากับคุณพ่อ...

จงจำไว้ว่า เมื่อคุณหรือคนที่รักเป็นเบาหวาน นอกจากตรวจเบาหวานแล้วให้ตรวจ ความดัน ถ้ามีแนวโน้มความดันสูงด้วย ให้ตรวจปัสสาวะ ดูค่าโปรตีน หรือดูว่าปัสสาวะขุ่นหรือเปล่า และทำการตรวจติดตามการทำงานของไตทุก ๆ ปี และหากวันใด เบาหวานขึ้นตา หรือมีค่าเบาหวานลงลด ระดับเบาหวานแกว่ง เดียวสูง เดียวต่ำ ให้เริ่มกังวนและใส่ใจได้แล้วว่า ไตมีการทำงานที่ผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์แล้วตรวจสอบการทำงานของไตด่วน หากคุณรู้ก่อนว่า มีภาวะไตเสื่อมเรื้อรังแล้ว ในระยะแรก ๆ คุณสามารถดูแลผู้ป่วยและตัวคุณเองด้วย โภชนาการบำบัด เพื่อชะลอและช่วยไตไม่ให้ต้องถูกทำลายเร็วได้ แต่สำหรับคุณพ่อ เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายแล้ว...คำตอบเดียวของหมอแผนปัจจุบันคือ ต้องฟอกไต...เท่านั้น

แล้วแพทย์ทางเลือกละ การแพทย์แบบองค์รวมละ การใช้ธรรมชาติบำบัดละ....สำหรับโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย...ช่วยไม่ให้ฟอกไตได้ไหม... เป็นคำถามที่เราจะต้องหาคำตอบต่อไป...