วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2552

สุพรรณรำลึก ตอนตลาดเก้าห้อง

ครั้งนี้เป็นอีกหลาย ๆ ครั้งที่ได้เดินทางมาเยือนสุพรรณ จังหวัดที่นึกแล้วทำให้ต้องคิดถึงภาพยนต์เรื่อง "บุญชู" และเสียงหน่อ กับเสียงเพลง "ไปด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ้ย..." สุพรรณบุรี นับว่าเป็นเมืองผ่าน ไปยังจังหวัดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุทัยธานี กาญจบุรี นครสวรรค์ เป็นต้น ไม่เคยเลยที่จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อมาเที่ยวสุพรรณ แต่มักได้มาแวะซื้อของขึ้นชื่อของเมืองสุพรรณอยู่เสมอ คือ "ขนมสาลี่" เมืองสุพรรณ

ที่ได้ขึ้นชื่อว่า หอม อร่อยมากที่สุด และบางครั้งก็มีโอกาสได้มาลิ้มรสอาหารเลืองชื่อ ก็คือ "ปลาม้า" ไม่ว่าจะทอด ทำต้มยำ ก็อร่อยเด็ด รสนุ่ม หวาน แม้คิดแล้วก็อยากกินอีกสักครั้ง
แต่เดี๋ยวก่อน วันนี้ไม่ได้มาพูดเรื่องอาหารหรือของกิน แต่จะมาเล่าเรื่อง "ตลาดเก้าห้อง" ให้ฟัง ตอนเรื่องที่ได้ยินชื่อนี้ คิดเลยว่า อ๋อต้องเป็นตลาดแบบว่ามี 9 แถว หรือ 9 ล็อก แน่ ๆ แต่คงไม่ใช่มีแค่ 9 ร้าน 9 ห้อง หรอกนะ เรามาทำความรู้จัก ตลาดเก้าห้อง ไปด้วยกันเลยนะ

ตลาดเก้าห้อง เป็นตลาดห้องแถวเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน อายุประมาณ 100 ปี สร้างประมาณต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันตั้งอยู่ ในเขตเทศบาลตำบล บางปลาม้า หมู่ที่ 2 ตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

จากเอกสารที่มีผู้เขียนเกี่ยวกับประวัติตลาดเก้าห้อง และจากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุ คำว่า ”ตลาดเก้าห้อง” น่าจะนำมาจากชื่อของบ้านเก้าห้อง ซึ่งเป็นบ้านโบราณมีประวัติสืบทอดมายาวนาน

ทางเข้าตลาดเก้าห้อง มีที่จอดรถสะดวกสบาย มาถึง แนะนำให้อ่านป้ายอธิบายรายละเอียดของแหล่งท่องเที่ยวก่อนเลย

สิ่งที่ไม่ควรพลาดที่ "ตลาดเก้าห้อง" คือ

1. ยันต์ฮู้ ยันต์โบราณ ที่ติดไว้ตรงเพดานของตลาด มีภาพให้ดู แต่อยู่ตรงซอยไหน ลองหาดูเอง ไม่บอกดีกว่า
ตลาดเก้าห้องเล่ากันว่าสร้างขึ้นโดยชาวจีนคนหนึ่งชื่อ “นายฮง“ อพยพมาจากกรุงเทพฯ มาทำมา ค้าขายอยู่บริเวณละแวกบ้านเก้าห้อง กิจการค้ารุ่งเรืองดี ในราว พ.ศ. 2424 ได้แต่งงานกับ “นางแพ” ซึ่งเป็นหลานสาวของขุนกำแหงฤทธิ์แห่งบ้านเก้าห้อง และได้ประกอบอาชีพค้าขายที่แพซึ่งสร้างขึ้นไว้ 1 หลัง จอดอยู่ริมน้ำหน้าบ้านเก้าห้อง ซึ่งในสมัยก่อนเป็นย่านค้าขายที่มีเรือนแพขายของสองฝั่งแม่น้ำ นายฮง หรือที่ชาวบ้านมักนิยมเรียกว่า “เจ๊ก-รอด” ทำการค้าขายสินค้าทุกประเภทโดยเฉพาะเครื่องบวช เครื่องมืออุปกรณ์ทำนาและเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลายจนร่ำรวยและรู้จักกันในนามต่อมาว่า “นายบุญรอด เหลียงพานิช”

2. หอดูโจร ในปี พ.ศ. 2467 โจรได้ปล้นแพของนายบุญรอด และได้ทำการประทุษร้ายนางแพจนถึงแก่กรรม หลังจากนั้นไม่นานนายบุญรอดได้สมรสกับนางส้มจีน นายบุญรอดเริ่มวางแผนผังและสร้างตลาดบริเวณฝั่งตรงข้าม บ้านเก้าห้อง โดยโยกย้ายแพทั้งหลายทั้งหลายขึ้นไปค้าขายบนบกคือในตลาด เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าขายทางน้ำในบริเวณนั้นและเปิดการค้าทางบกมากขึ้นและนำชื่อบ้านเก้าห้อง มาเป็นชื่อตลาด คือ “ตลาดเก้าห้อง” เนื่องจากในสมัยก่อน โจรชุกชุมมาก ชาวบ้านจึงสร้าง "หอดูโจร" ขึ้นมาเพื่อดูลาดราว

3. ศาลหลักเมือง บ้านเก้าห้อง เป็นหมู่บ้านเก้าห้อง เก่าแก่ในประว้ติศาสตร์ มีอายุประมาณ 150 ปี ชาวบ้านส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากเมืองเวียงจันทร์ เชียงขวาง อพยพมาตั้งแต่สมัย ร.3 ปัจจุบันเรียกตนเองว่า ไทยพวน มีภาษาพูดของตนเองเป็นภาษาลาวพวน ผู้คนบริเวณนี้ได้รับการกล่าวขานว่าขยันขันแข็งมากซึ่งหัวหน้าของชาวลาวพวนคนหนึ่งได้รับการแต่งตั้งบรรนาศักดิ์เป็น "ขุนกำแหงลือชีย" ทำหน้าที่เป็นนายกองเก็บส่วยและยังมีประเพณีเป็นของตนเอง เช่น ประเพณีกำฟ้า ประเพณีบั้งไฟไทยพวน นอกจากนี้ยังมีคนจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานพร้อมกันโดยพิ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอย่างสงบสุขและมีงานประจำปีของศาลเจ้าพ่อและเจ้าแม่ทั้ง 3 ตลาดซึ่งถือได้ว่าเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม ทั้ง ไทย จีน ลาวพวน

4. พิพิธภัณฑ์ ตลาดเก้าห้อง พิพิธภํณฑ์ของเก่าเก็บ เอกชน โดยร้านเจริญสวัสตี อยู่ฝั่งตรงข้าม
เจ้าของใจดี ให้การต้อนรับไทยทัวร์พร้อมเล่าประวัติของเก่าสะสมแต่ละชิ้นอย่างละเอียด ส่วนใหญ่เป็นของใช้จริงในชีวิตประจำวันในอดีต 40-60 ปีก่อน

5. ร้านขายขนมเปี้ยเจ้าเก่า ของตลาดเก้าห้อง ร้านตั้งกุ้ยกี่ หรือ ร้านจันอับ ขึ้นชื่อ เอกลักษณ์ของตลาดเก้าห้อง มาแล้วต้องซื้อกลับ
ลองชิมดูแล้ว อร่อยดี


และยังมีอีกหลาย ๆ ที่ อยากฟังอีกไหม "เล่ายาวนะ" เอาเป็นว่าแนะนำให้ไปเที่ยวแล้วกัน ถ้าไปเที่ยวแล้ว แวะมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะ

ไม่มีความคิดเห็น: