วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

นกตะขาบทุ่ง ณ พุทธมณฑล

นกสีน้ำเงิน เป็นนกที่มีความเชื่อของชาวญี่ปุ่นว่า เป็นนกนำโชค ใครที่เคยพบน้ำสีน้ำเงิน ตัวโต บินผ่านไป คงต้องสงสัยว่า เป็นนกอะไรกันหนอ แล้วเจ้านกสีน้ำเงินนี้ เป็นนกนำโชคจริงไหม เวลาเจอะในแต่ละครั้ง ก็ทำให้เรารู้สึกดีใจ ยินดี ว่าวันนี้คงโชคดี ซึ่งเป็นความเชื่อที่เราเองก็เข้าข้างตัวเองไปเองนะแหละ
พอมาวันนี้ เริ่มต้นดูนก ศึกษานกพันธุ์ต่าง ๆ มากขึ้น และได้มาถ่ายรูปนก เจ้านกสีน้ำเงิน ตัวโตนี้ ก็เป็นเป้าหมายในการถ่ายรูปเช่นกัน เมื่อได้รูปถ่ายมาแล้ว ก็ค้นหาว่าเป็นนกอะไร ...

ในที่สุด เราก็ได้รู้จักนามของเจ้านกสีน้ำเงินนี้จนได้ "นกตะขาบทุ่ง"

นกตะขาบทุ่ง  Indian Roller
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Coracias benghalensis

ที่มาของชื่อนกตะขาบทุ่ง อาจมาจาก การที่มันกินตะขาบ และพบวิ่งวอน โฉบเฉียวอยู่ในทุ่ง หรือคำว่า ขาบ อาจมาจากสีโทนน้ำเงิน หรือสีร้องที่แหบ ๆ ของมัน ก็มิอาจทราบแน่ชัด

ลักษณะทั่วไป
     นกตะขาบทุ่งเป็นนกขนาดกลาง มีขนาดลำตัวประมาณ 33 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน ขนบนกระหม่อมมีสีเขียวแกมฟ้า เหลือง และน้ำตาล บริเวณคอ ไหล่ อก และหลังเป็นสีน้ำตาลแกมเขียว ปีกสีน้ำเงินแกมม่วง หางมีสีฟ้าคาดด้วยแถบสีน้ำเงิน บริเวณใต้ท้องและปีกเมื่อบินจะเห็นสีฟ้าสดแกมเขียว ปากหนาเรียวปลายแหลม และคอสั้น เป็นนกที่ชอบวิ่งผาดโหดทะยานขึ้นฟ้า ฉวัดเฉวียน เรียกร้องความสนใจ และน่าชมมากที่เดียว

ภาพนกตะขาบทุ่งชุดนี้ ถ่ายจากสวนพุทธมณฑลสาย 4 ณ สวนสมุนไพร เห็นนกสีน้ำเงินตัวใหญ่ บินโฉบรอนไปมา แล้วก็มาเกาะที่ต้นไม้เตี้ย ๆ ไม่ไกลพอดี จึงได้เก็บภาพมาฝาก
ภาพนี้เป็นนกตะขาบทุ่งที่เกาะพักเหนื่อยอยู่บนกิ่งไม้

ภาพนี้ก็เป็นนกตะขาบทุ่งอีกตัว ที่เกาะอยู่ เห็นด้านหลัง

ภาพนี้ เราเดินมาถ่าย ด้านข้าง ๆ มัน กลัวมันรู้ตัว

อันนี้เป็นตัวเดิมที่รู้ตัว แล้วบินหนีไปเกาะบนตัวไม้อีกต้น แต่เราก็ยังตามไปถ่ายอยู่ เพราะบินไปไม่ไกล

ถิ่นอาศัย, อาหาร
     นกตะขาบทุ่ง พบในทวีปเอเชียแถบประเทศอินเดีย จีน อินโดจีน และในประเทศไทยพบอยู่ทั่วทุกภาค ยกเว้นทางตอนใต้ของภาคใต้ พบได้ที่ความสูงมากว่าหรือประมาณ 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล
     นกตะขาบทุ่ง กินทั้งแมลง หนอน ไส้เดือน ลูกกบ เขียด สัตว์เลือยคลาน และสัตว์เล็กๆ เป็นอาหาร

พฤติกรรม, การสืบพันธุ์
     ชอบอาศัยตามท้องนา ทุ่งหญ้า ป่าโปร่ง และบริเวณใกล้แหล่งกสิกรรม หรือหมู่บ้าน มักหากินอยู่ตามลำพัง แต่อยู่เป็นคู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ชอบเกาะอยู่นิ่งบนกิ่งไม้ และลงหากินตามพื้นดิน ชอบร้องเสียงดัง "ต้า ต้า"
     นกตะขาบทุ่งผสมพันธุ์ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ทำรังบนต้นไม้บริเวณโพรงไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในบางครั้งจะแย่งรังหรือโพรงเก่าของนกอื่นเพื่อวางไข่ ตัวเมียวางไข่ครั้งละ 2-5 ฟอง

สถานภาพปัจจุบัน
     เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อยมากทั่วประเทศ จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

สถานที่ชม
     นกตะขาบทุ่งสามารถพบในตามสวนสาธารณะในเมือง ชานเมือง ทุ่งโล่ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ชายป่า เรียกได้ว่ามีเจ้านี่อยู่ในทุกที่ทั่วไทยที่ป่าไม่หนาทึบจนเกินไป และระดับความสูงจากน้ำทะเลไม่เกิน 1,500 เมตร

นกตะขาบทุ่ง เป็นนกที่พบได้บ่อยในประเทศไทย เราจะเห็นบินโฉบผ่านไป ปีกสีน้ำเงินสวย สะท้อนแสงเป็นเงามาก ๆ เห็นครั้งแรกในสมัยที่อยู่เชียงใหม่ เราเรียกว่า นกนำโชค วันไหนได้เจอะ วันนั้นจะโชคดีทั้งวันเลย เพื่อน ๆ ละ เคยเห็นเจ้านกชนิดนี้บ้างไหม ลองมองหาดูนะค่ะ พบแล้วก็มาบอกเล่าเก้าสิบกันบ้างล่ะ


ไม่มีความคิดเห็น: