ชื่อวิทยาศาสตร์ ของนกอีเสือสีน้ำตาลคือ Lanius cristatus
เป็นนกขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์ Laniidae จัดเป็นนกอพยพย้ายถิ่นอาศัยเข้ามาหากินในประเทศไทย ภาพที่ถ่ายได้ ที่ สวนรถไฟ ในช่วงเดือน มกราคม 2556 ซึ่งเป็นช่วงที่นกอพยบเริ่มเข้ามาหากินในประเทศไทยแล้ว โดยจะมีการจับคู่ผสมพันธุ์ และออกลูกก่อนอพยบเดินทางกลับไป
นกอีเสือสีน้ำตาล
นกอีเสือสีน้ำตาล มีลักษณะ
หัวโต คิ้วเป็นเส้นสีน้ำตาลอ่อนออกขาว ปากใหญ่หนา ปลายปากแหลมงุ้มเป็นจะงอยสีน้ำตาลเข้มออกดำ ซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่นและที่แปลกกว่านกทั่ว ๆ ไปคือ มีฟันแหลมอยู่หนึ่งซี่อยู่ที่ขอบปากบน มีแถบสีดำตั้งแต่โคนปากไปถึงหู ดูคล้ายหน้ากาก
ลำตัวเพรียว ขนคลุมลำตัวสีน้ำตาลแดง ปีกสีน้ำตาลเข้มที่ใต้คาง หน้าอกสีน้ำตาลปนขาว หางยาวสีตาลเข้มกว่าลำตัว ใต้หางบริเวณก้นสีน้ำตาลปนเทาอ่อน ขาสีดำ เล็บแข็งแรงแหลมคม ตัวผู้และตัวเมียสีจะคล้ายกัน ขนาดโตเต็มวัยวัดจากหัวถึงปลายหางยาวประมาณ 20 เซนติเมตร
ฤดูผสมพันธุ์ของนกอีเสือสีน้ำตาล จะอยู่ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม หลังจากจับคู่แล้ว ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันหากิ่งเหมาะบนต้นไม้ที่มีความสูง เพื่อทำรังวางไข่ วางไข่ครั้งละ 3-6 ฟอง ใช้เวลากก 15-16 วัน ลูกนกจึงออกมา ในวัยที่ยังเล็กทั้งพ่อและแม่นกจะช่วยกันหาอาหารมาป้อน กระทั่งผ่านพ้น 2 สัปดาห์ จึงจะเริ่มหัดบิน และแยกออกไปหากินตามลำพัง
นกอีเสือสีน้ำตาล จัดได้ว่าเป็นนกที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างมากชนิดหนึ่ง เพราะช่วยกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตร แต่ปริมาณของนกอีเสือสีน้ำตาลในธรรมชาติเริ่มเหลือน้อย จนหมิ่นเหม่ต่อการสูญพันธุ์ ในประเทศไทยจึงจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
คราวหน้าไปเที่ยวสวนรถไฟ อย่าลืมมองหา นกอีเสือสีน้ำตาล กันบ้างนะค่ะ ตัวจริง น่ารักสุด ๆ เลยค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น