วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรื่องของผีเสื้อ บทเรียนสอนพ่อแม่

เรื่องนี้ไว้สอนสำหรับคนเป็นพ่อแม่โดยเฉพาะ



ในระหว่างทานข้าวกลางวัน วนิดาซึ่งเป็นซีอีโอ ถามกิตติผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งที่รายงานตรงต่อเธอว่า

 “ กิตติ พี่สังเกตว่าคุณไม่เคยปิดมือถือเลย แม้กระทั่งเวลาประชุม
 แล้วพี่ก็เห็นคุณขอตัวออกไปจาก ที่ประชุมกลางคันเพื่อรับโทรศัพท์
 พี่อยากรู้ว่าเป็นโทรศัพท์ของใครหรือ ทำไมมันสำคัญขนาดรอจนจบประชุมไม่ได้
พี่เห็นเป็นประจำเลยนะ ”

 กิตติมีท่าทีอึดอัด เขาตอบว่า
 “ ไม่มีอะไรหรอกครับ เรื่องส่วนตัวนะครับ ผมขอโทษ ”

 วนิดายิ้มแบบผู้ใหญ่ใจดี เธอเงียบไปสักครู่จึงพูดต่อ
 “ กิตติ เราสองคนทำงานด้วยกันมาพอสมควร
 คิดว่าพี่เป็นพี่สาวของคุณก็ละกัน เพราะพี่อายุมากกว่าคุณสองสามปี
 มีอะไรก็เล่าสู่กันฟังซิคะ เผื่อว่าพี่อาจจะแนะนำอะไรให้ได้บ้าง ”
 วนิดาเลือกใช้แนวทางพี่น้อง แทนที่เธอจะตำหนิเขาโดยตรง
 ในเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในที่ประชุมแบบเจ้านายกับลูกน้อง

 วิธีนี้ได้ผล! กิตติสารภาพออกมาแบบกระอักกระอ่วน
 “ ก็...คือว่า...พี่อย่าโกรธผมนะครับ มันเป็นโทรศัพท์มาจากลูกสาวผมเอง
 เธอเพิ่งไปเรียนไฮสคูลที่ออสเตรเลียเมื่อไม่กี่เดือน
 โรงเรียนที่ลูกสาวผมเรียนนี้ค่อนข้างจะเข้มงวด แถมมีการบ้านจมเลย
 ตอนลูกสาวผมเรียนที่นี่ ผมช่วยติวและทำการบ้านร่วมกับเธอบ่อยๆ
 ลูกคนเดียวเธอคือดวงใจของผมเลยครับ ผมบอกเธอว่าไปอยู่นั่น
 ติดขัดเรื่องการบ้านละก็โทรมาหาผมได้ทุกเมื่อไม่ว่าจะเป็นเวลาใด
 ผมจะคอยช่วยเหลือเธอผมไม่ต้องการเห็นเธอล้มเหลว
 ตอนค่ำเมื่อกลับบ้านผมก็แทบจะไม่ได้พักผ่อน
 แต่จะไปช่วยเธอทำการบ้านแล้วก็แฟ็กซ์ส่งไปเรื่องคณิตศาสตร์บ้าง
 ภาษาอังกฤษบ้าง ผมอยากให้เธอประสบความสำเร็จ
 ผมต้องขอโทษที่บริหารเวลาไม่ค่อยได้เรื่อง ”
 กิตติจบเรื่องลงด้วยท่าทีละอายใจ วนิดาแสดงความเห็นใจ

 “ เรื่องของคุณมันฟังแล้วคุ้นๆมากเลย พี่พอจะจินตนาการออกถึงความลำบากใจของเธอ
พี่เองก็มีลูกสาวเรียนปริญญาโทอยู่ที่อเมริกา
 พี่เคยทำแบบคุณเหมือนกัน เพราะลูกสาวพี่จบตรี แล้วไปต่อโทเลย
 จึงไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน ดังนั้นพอทำกรณีศึกษาก็มักจะไม่ทันเพื่อนเขา หรือไม่เข้าใจ
แถมยังไม่กล้าถามอาจารย์อีก
 พี่เลยต้องช่วยทำเคส แล้วก็อีเมล์ไปให้เธอ
แต่ว่าตอนนี้พี่หยุดช่วยเธอแบบนั้นแล้วล่ะค่ะ ”

 กิตติถามด้วยความประหลาดใจ
 “ ทำไมล่ะครับ พี่ไม่รักเธอแล้วหรือ
 หรือว่าพี่เห็นว่างานมีความสำคัญกว่าครอบครัวครับ ”

 วนิดาตอบพร้อมกับยิ้มอย่า งอารมณ์ดีว่า
 “ พี่ยังรักลูก และเห็นคุณค่าของครอบครัวและงานเหมือนเดิม
 พี่โชคดีที่มีเพื่อนชาวอเมริกันคนหนึ่ง เขาสังเกตเห็นวิธีที่พี่ช่วยลูกสาว
 แล้ววันหนึ่งเขาก็ให้หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Power of Failure
 โดย Charles C. Manz และมีการแปลเป็นไทยในชื่อ วิกฤติคือโอกาส
 โดยพสุมดี กุลมา เรียบเรียงโดย นราทิป นัยนา
 เพื่อนอเมริกันเขาคั่นเรื่องๆหนึ่งให้พี่อ่านโดยเฉพาะเลย
พี่จะเล่าให้เธอฟัง ”
 .........
 มีชายคนหนึ่งนั่งมองผีเสื้อที่กำลังดิ้นรนจะออกจากรังไหม
 เจ้าผีเสื้อดิ้นรนไปซักพัก จนกระทั่งใยรังไหมเริ่มขาดเป็นรูเล็กๆ
 ชายคนนั้นมองด้วยความสนใจ เจ้าผีเสื้อดูเหมือนจะหยุดไป
ที่จริงผีเสื้อมันพักเพื่อที่จะดิ้นรนต่อไป
 แต่ว่าชายคนนั้นคิดไปเองว่าผีเสื้อคงติดใยรังไหม
ไม่สามารถจะออกมาได้ด้วยตนเอง
 ด้วยความหวังดี เขาจึงนำกรรไกรขนาดเล็กมาตัดใยรังไหมนั้น
 ทำให้รูมันขยายใหญ่ขึ้น
เจ้าผีเสื้อเห็นรูขยายใหญ่ขึ้นมันก็คลานต้วมเตี้ยมออกมา
 แต่เขาสังเกตว่าตัวมันมีขนาดเล็กกว่าปกติ ปีกเหี่ยวย่น
แถมลำตัวของเจ้าผีเสื้อก็มีลักษณะบวมผิดปกติ
 กลายเป็นว่าในขณะที่ผีเสื้อต้องดิ้นรนออกแรงตะเกียกตะกาย
 เพื่อพยายามจะดันตัวมันออกจากรังไหมนั้น
 เป็นกระบวนการธรรมชาติที่จะกระตุ้นให้ของเหลวชนิดหนึ่ง
 ที่อยู่ในลำตัวผีเสื้อเคลื่อนที่มาสู่ปีก
เพื่อทำให้ปีกแข็งแรงเพียงพอจะบินได้

 ด้วยความปรารถนาดีของชายคนนั้น
 ผีเสื้อตัวนี้ปีกจึงเหี่ยวย่นไม่แข็งแรงเพียงพอจะบินได้
 แถมยังมีรูปร่างพิกลพิการ เพราะของเหลวที่ควรจะอยู่ที่ปีก
ดันไปติดคั่งค้างอยู่ที่ลำตัว
 เจ้าผีเสื้อตัวนี้ออกจากใยมาได้ด้วยความสบาย
 แต่ต้องพิกลพิการ และบินไม่ได้ไปชั่วชีวิตของมัน

 .....

 อุปสรรคและความล้มเหลวในชีวิตของคน ก็คล้ายๆกันกับสิ่งที่เจ้าผีเสื้อเผชิญ
 ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ ความก้าวหน้าในชีวิต การพัฒนาทักษะ ความกล้าหาญ
 ความมุ่งมั่น ล้วนแล้วแต่น่าสงสารและน่าเห็นใจ
 แต่จะได้คุณค่ามาก็ด้วยการล้มเหลวอย่างถูกวิธี

 เราจะคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต
 โดยไม่มีความล้มเหลวนั้นเป็นไปไม่ได้

 เมื่อเราเผชิญอุปสรรค แล้วเราหลีกเลี่ยงที่จะแก้ไขหรือต่อสู้กับมัน
 เท่ากับว่าเรากำลังเสียโอกาสสำคัญในการเรียนรู้บทเรียนที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในชีวิตของคน

 กิตติฟังด้วยความสนใจ
 “ โอ้โฮ เรื่องนี้จุดประกายน่าดูครับ
 แต่ผมกลัวว่าลูกผมจะเกลียดผมนะซีครับ ”

 วนิดาเสริมต่อ
 “ มีคำพูดที่ว่า 'No pain No gain' "ไม่เจ็บ ไม่ได้เรียนรู้"
 ที่จริงพวกเรานะผิดเองที่ป้อนลูกๆ เรามากไป
 สำหรับกรณีของพี่ พี่อธิบายให้ลูกเขาเข้าใจด้วยการเล่าเรื่องนี้แหละ
 หลังจากนั้น พี่ก็ขอโทษสำหรับการให้ความช่วยเหลือลูกแบบผิดๆในอดีต
 ลูกๆ ของเราเขาฉลาดพอจะเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้นะ ...

 กิตติ คุณลองมองไปรอบๆตัวเราสิ
 เรามีพนักงานที่มีความรู้ มาจากครอบครัวที่มีฐานะ
 หลายคนที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ
 พวกเขาไม่อดทนต่อปัญหาและอุปสรรค
 คนที่ควรถูกตำหนิคือ พ่อแม่ของเขา

 คุณอยากถูกคนอื่นเขาต่อว่าแบบนี้ในอนาคตไหมล่ะ
 แถมลูกๆ ของเรายังอ่อนแอไม่สามารถจะฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคได้ ..

 ... คุณมีสิทธิ์เลือกนะ … ”

ไม่มีความคิดเห็น: