วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

นกจับแมลงสีน้ำตาล ณ สวนรถไฟ

นกจับแมลงสีน้ำตาล / Asian Brown Flycatcher  หรือที่นักดูนกมักย่อว่า ABF เป็นอาหารจานเล็ก ๆ ที่มักพบเห็นกันตามสวนหย่อม ตามแหล่งน้ำ ตามที่รก ๆ ในช่วงเดือน ตุลาคม ถึง มีนาคม เพราะเป็นนกที่อพยบมา

ชื่อ:
นกจับแมลงสีน้ำตาล

ชื่อสามัญ:
Asian Brown Flycatcher

ชื่อวิทยาศาสตร์:
Muscicapa dauurica

จำแนกอยู่ในวงศ์:
อยู่ในวงศ์นกจับแมลง Family Muscicapidae 

ในอันดับนกเกาะคอน Order Passeriformes







รูปร่างลักษณะ 
เป็นนกขนาดเล็กมาก ความยาวจากปลายปากจดหาง 13 - 13.5 ซม. ว่องไว โฉบบินจับแมลง
นกทั้งสองเพศ ทั้งเพศผู้ และเพศเมีย สีสันคล้ายกัน แยกกันไม่ออก ต้องจับมาตรวจสอบ ดูจากภาพแทบแยกไม่ออกเลย


นกที่เต็มวัย ลักษณะ

  • ลำตัวด้านบน สีเทาจนถึงน้ำตาลแกมเทา 
  • ปาก สีอ่อน ปลายปากสีคล้ำ ตอนโคนปากมีสีเหลือง  
  • วงรอบตา สีเนื้อหรือสีขาว มีแถบเล็กๆสั้นๆ ลากผ่านตา 
  • มีขีดสีขาวคล้ายหนวด ลากจากโคนปากลงมาด้านหน้าของขนคลุมหู ไม่มีลายที่ปีก 
  • ลำตัวด้านล่าง และ ขนคลุมใต้โคนหาง สีออกขาว 
  • นกบางตัวอาจมีลายขีดเล็กๆ สังเกตได้ยาก นอกจากจะดูในระยะ ใกล้ 
  • อกตอนล่าง เป็นลักษณะสีซึม ออกน้ำตาลแกมเทา 
  • ข้างอก จะมีสีน้ำตาลแกมเทา มากกว่า ตรงกลางอก 
  • สีข้าง สีเทาแกมน้ำตาล ตรงกลางอกมักมีสีขาว 
  • นิ้วเท้า สีออกดำ 
  • ตอนล่างของขนบริเวณไหล่ มีขลิบขอบขนรูปครึ่งเสี้ยวสีอ่อน มีแต้มสีเทา ที่ขนคลุมปีกชั้นแรก และ ชั้นกลางด้านที่ติดลำตัว 


นิสัยประจำพันธุ์ มักพบอยู่โดดเดี่ยว หรือ เป็นคู่ ชอบเกาะตามกิ่งล่างของต้นไม้ หรือ ที่กิ่งแห้ง , ตา คอยจ้องหาเหยื่อ ซึ่งได้แก่แมลง ที่บินผ่านมา โดยโฉบจับด้วยปากกลางอากาศ แล้วกลับมาเกาะที่กิ่งเดิม บางครั้งลงมาจับแมลงตามพื้นดิน โดยบินลงเกาะที่พื้นดินใกล้แมลงที่กำลังเดินอยู่ แล้วบินโฉบจับ โดยไม่เดินหาตามพื้นดิน ขณะเกาะตามปกติ มักขยับปีกเร็วๆ อยู่กับที่เกือบตลอดเวลา เหมือนตั้งท่าพร้อมจะบินออกไปทุกเมื่อ , หาง ห้อยลง , เป็นนกที่ขยันหากิน มักพบโฉบจับแมลง เกือบทั้งวัน แต่จะดูเคลื่อนไหวว่องไวมากในตอนเช้า และ เย็นใกล้ค่ำ

เสียงร้อง : "ชี ติ-ติ-ติ"

  -->

แหล่งอาศัยหากิน พวกที่เป็นนกอพยพ จะพบได้ในป่าหลายแบบ และ อาจพบแม้แต่ตามสวนสาธารณะ บริเวณบ้านคนที่มีต้นไม้และที่โล่งอยู่บ้าง ปกติจะพบในป่าโปร่ง ชายป่า ทุ่งโล่ง สวนผลไม้ และ ป่าชายเลน ตั้งแต่พื้นราบจนถึงความสูง 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล

การหาอาหาร จำพวกแมลง ใช้วิธีโฉบจับจากกลางอากาศจากกิ่งที่เกาะ และกลับไปเกาะที่กิ่งเดิม บางครั้งลงจับแมลงที่พื้นดิน เสียงร้อง : "ชี ติ-ติ-ติ"

นกจับแมลงสีน้ำตาล หรือ ABF นี้ เป็นที่นิยมของนักดูนกมาก และเหมาะกับสำหรับนักดูนกที่หัดใหม่ เพราะพบเห็นได้ง่าย ค่อนข้างอยู่นิ่งให้ดูได้นาน ๆ อีกด้วย

ขอบคุณ ภาพถ่ายจากคุณตู๋ ภาพนกทั้งหมดได้จากสวนรถไฟในเดือน พฤศจิกายน 2555 ค่ะ

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เดินป่าปลายฝนต้นหนาว ดูดอกหงอนนาค ณ ภูสอยดาว

ฝนเริ่มทิ้งช่วงแล้ว อากาศเย็น ๆ เริ่มมาเยือนยอดดอย ปลายฝนแบบนี้ ช่วงเดือนตุลาคม แบบนี้ มีเพื่อนชวนไปเดินป่า ชมนก ชมไม้ ณ ลานสน ภูสอยดาว โดยโปรยคำชวนว่า "ถ้าเข่ายังดี ไปชมดอกหงอนนาค ที่ภูสอยดาวกันไหม รีบไปก่อนเข่าเสื่อมนะ" อ้าว...พูดแบบนี้ ไม่ไปไม่ได้แล้ว รีบไปก่อนแก่ดีกว่า...หลังจากพูดมา 2 อาทิตย์ และบอกแบบขู่ ๆ ด้วยว่า ให้ฟิตร่างกายหน่อยนะ แต่ด้วยการงานที่ยุ่งมาก ๆ กว่าจะเสร็จงาน ว่าจะนอน กว่าจะถึงบ้าน ก็ไม่เคยได้ไปฟิตร่างกาย เตรียมร่างกายที่ไหนเลย แต่ใจนะพร้อมยิ่งกว่า อยากไปนอนดูดาว ชมดอกไม้เล่นแล้ว....

--> เราเดินทางจากกรุงเทพด้วยรถทัวน์ไปลงที่พิษณุโลก แล้วมีเพื่อนขับรถมารับไปที่อุทยานภูสอยดาว เราตกลงเช่าบ้านที่อุทยานนอนพักกัน 1 คืน พรุ่งนี้เช้าค่อยเดินทางขึ้นภู วันนั้นก็เดินเล่นดูนก ชมดอกไม้ ณ อุทยาน

เช้าวันรุ่งขึ้น รอจนเจ้าหน้าที่มาก็ 8 โมงกว่า กว่าจะได้ไปลงทะเบียน มีนักท่องเที่ยวมาหลายกลุ่มมาก ลงทะเบียนค่าเข้าอุทยาน 40 บาทต่อคน ค่ารถ 60 บาท ค่าประกันขยะ (ต้องเก็บกลับมา) 150 บาท และค่าลูกหาบคิดกิโลกรัมละ 20 บาท (จ่ายตรงกับลูกหาบเอง)

จุดมุ่งหมายของทริปนี้ คือ ไปดูทุ่งดอกหงอนนาค และเก็บภาพดอกหงอนนาคมาฝากเพื่อน ๆ

ก่อนอื่นขอแนะนำเกี่ยวกับ ดอกหงอนนาคกันสักนิดว่า คืออะไร


ดอกหงอนนาค หรือดอกหงอนเงือก หรือ น้ำค้างกลางเที่ยง หญ้าหงอนเงือก หงอนเงือก มีหลายชื่อมาก ตามแต่ที่จะเรียกกันของชาวบ้าน
โดยที่เรียกแบบนี้ ให้เราลองสังเกตุดูว่า บริเวณก้านดอก พบว่า มีลักษณะเป็นเกล็ด คล้ายเกล็ดพญานาค จึงให้ชื่อว่า ดอกหงอนนาค และ ที่เรียกว่า น้ำค้างกลางเที่ยง เพราะว่า ดอกจะบานเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง โดย จะมีหยดน้ำค้าง ค้างอยู่บนเวณ กลีบเลี้ยง เป็นหยด จึงได้รับสมญานามว่า น้ำค้างกล้างเที่ยง นั้นเอง

ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ของดอกหงอนนาค หรือน้ำค้างกลางเที่ยง คือ Murdannia giganteum ( Vahl. ) Br.

ลักษณะของดอกตามหลักพฤกษา คือ มีลักษณะออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือปลายยอด ดอกสีม่วงอ่อนหรือม่วงน้ำเงิน สีขาว และสีชมพู ซึ่งค่อนข้างหายาก กลีบดอก 3 กลีบ กลีบตรงกลางด้านบนจะตั้งฉากกับกลีบด้านข้างทั้ง 2 กลีบ ยามเช้าจะหุบดอก แล้วจะบานเมื่อมีแสงแดด ส่วนกลางของดอกมักมีหยดน้ำติดอยู่


ส่วนแหล่งที่พบ ขึ้นบริเวณลานดินทรายที่มีน้ำขังหรือทุ่งหญ้าป่าสนบนภูเขาสูงๆ ที่ชุ่มชื้น จุดที่มีหงอนนาคทุ่งใหญ่ที่สุดของไทยอยู่ที่ภูสอยดาว นอกจากนี้ยังพบได้อีกหลายแห่งเช่น เขาสมอปูน ทุ่งโนนสน เขาใหญ่ และอีกหลายที่

ส่วนช่วงเวลาออกดอก  คือ ส.ค. - ต.ค.

ซึ่งในช่วงที่เราขึ้นไป ปรากฏว่า ฝนทิ้งช่วง แดดดีมาก ไม่มีหมอกให้ชื่นชมเลย แต่ความชื้นบนลานสน ณ ภูสอยดาว ยังคงมีอยู่ จึงเห็นดอกหงอนนาค หรือดอกหงอนเงือก อยู่เป็นทุ่ง แซมกับดอกกระดาษ สีเหลือง อยู่ทั่วลานสน

ความงาม อาจถ่ายทอดมิได้...เท่าที่คุณต้องไปดู และสัมผัสด้วยตัวคุณเอง...

 ทิ้งท้ายกันด้วย ขอท้าคุณผู้กล้า พิชิตลานสน ณ ภูสอยดาว ซึ่งจะต้องเดินเท้าขึ้นเขาเป็นระยะทางประมาณ 6.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 4-6 ชั่วโมง.... รีบไปก่อนนะ ก่อนเข่าจะเสื่อม จำไว้ ตัดสินใจวันนี้ ก่อนวันหน้าจะไม่ได้มีโอกาสไป..... แล้วจะเสียใจ....

-->

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ไป ลันล่า ... กันที่เชียงดาว

ไปลันล่า...กันที่เชียงดาว ...ทริปนี้ ถูกกำหนดขึ้นก่อนวันเดินทาง 28 วัน ให้เตรียมตัวฟิตร่างกาย เตรียมพร้อมกับการเดินป่า 3 วัน 2 คืน ที่ดอยหลวงเชียงดาว โดยงานนี้ได้จ้างไกด์ท้องถิ่น และลูกหาบไป 3 คน พวกเราอีก 4 คน ค่าทัวน์คนละ 2500 บาท (แพงไปนิด แต่ก็เบาตัว เดินแบกแต่กล้องไปถ่ายภาพ เต้นท์ และอาหารทางทัวน์เหมาหมด)

เป้าหมายของทริปนี้ มี 5 เป้าหมาย ด้วยกัน คือ
1. แวะตัวเมือง เชียงดาว ทาน ขาหมูเชียงดาว เจ้าเก่า
2. ตามหาเทียนนกแก้ว ณ ดอยหลวง
3. ถ่ายรูปพระอาทิตย์ตก ณ ยอดดอยหลวงเชียงดาว
4. ถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้น ณ ยอดดอยกิ่วลม
5. ถ่ายทะเลหมอก

เรามาติดตามกันว่า ทริปนี้ เราจะพิชิตเป้าหมาย และลันล่า กันได้ไหม....

การเดินทางจากกรุงเทพเชียงใหม่ด้วยรถทัวน์ VIP สมบัติทัวน์ ราคาตั๋ว เกือบ 900 บาท เบาะใหญ่ นั่งสบายดี ถึงเชียงใหม่ตี 5 เพื่อนร่วมทริปมารับ ขับไปถึงที่ อ.เมืองเชียงดาว ตรงเข้าไปหาร้านขาหมูเจ้าเก่าเชียงดาว ที่อยู่เยื้องกับเซเว่นในเมือง

เซเว่นอยู่ขวามือ ร้านขาหมูเชียงดาว (เจ้าเก่า) อยู่ซ้ายมือ เป็นสูตรดั่งเดิมกว่า 60 ปี รับประกันความอร่อย ชิมมาแล้ว



ต่อไปที่ถ้ำเชียงดาว ไปพบกับทัวน์ไกด์ท้องถิ่น จัดของให้ลูกหาบ และรับอาหารเที่ยง (ข้าวกล้อง) แล้วเตรียมตัวเดินขึ้น plan คราว ๆ เราจะไปกลางเต้นท์กันครึ่งทาง หลังจากนั้นก็เดิน แล้วก็เดิน
-->
เราเดินขึ้นระยะทาง 6.50 กิโลเมตร แต่วันนี้เราจะเดินแค่ 3.5 กิโลเมตร แล้วแวะพัก กางเต้นท์กลางทาง เพื่อให้เต็มอิ่มกับการเก็บภาพ เจ้าเทียนนกแก้วน้อย ๆ ที่น่ารักของเราก่อนถึง ที่กางเต้นท์วันที่สอง คือ จุดกางเต้นท์ อ่างสลุง

ระหว่างทางเดินเราก็เก็บภาพเจ้าเทียนนกแก้ว ได้เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ว่าที่จุดพักแรม มีเป็นต้นใหญ่ เป็นฝูงเทียนนกแก้วทำให้เก็บได้ตอนทั้งตอนเย็น ถึงเช้าวันรุ่งขึ้น 

บริเวณจุดพักแรก คืนแรก มีห้องน้ำที่ทางเจ้าหน้าที่ทำไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น


แต่พวกเราก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปใช้นะ แบบว่า ไม่แน่ใจว่า เปิดเข้าไปจะเห็นอะไร เลยงด ถ่าย(หนัก) ได้แต่เบา ๆ ไว้ก่อนกันทุกคน ระหว่างทางเดิน ก็มีทั้งนก และวิว ที่สวยงาม ประมาณว่า เหนื่อยก็หาเรื่องจอด ถ่าย จอดถ่าย (รูป) กันตลอดทาง เลยรู้สึกว่า เดินคราวนี้ไม่ค่อยเหนื่อยเลยจ้า...

เทียนนกแก้ว ที่บริเวณ ที่พักแรกคืนแรก
 และค่ำคืนนั้นเราก็ได้ฟังเรื่องเล่าของ ดอกเทียนนกแก้ว ดังจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้

เช้านี้....มีเรื่องเล่า เรื่องอ้าง เรื่องแต่ง... จะมาบอก...ถึง..ที่มาของ...ดอกเทียนนกแก้ว ณ ดอยหลวงเชียงดาว......

เมื่อในครั้งหนึ่งที่นานมาแล้ว นานมาก ๆ นานจนเกือบจะลืมไป (เดียวจะไม่มีเรื่องเล่า เลยต้องจำไว้ก่อนลืม) บนยอดดอยแห่งหนึ่ง ที่ปัจจุบันคือ ดอยหลวงเชียงดาว มีต้นเทียนเล็ก ๆ ต้นหนึ่ง ลำต้นเป็นสีเขียวอ่อน ใบสีเขียว อ่อน ไร้ซึ่งสีสรร สดใส เฝ้าเหม่อมอง เหล่าสกุณา นกเล็ก นกใหญ่ ที่บินมาเกาะยอดไ
ม้ หยอกล้อต้นหญ้า และจิกหนอนบนดิน โฉบไป โฉบมา โดยไม่มีแม้สักตัวจะเหลียวมอง เจ้าต้นเทียนน้อยสีเขียวอ่อน ๆ ที่ขึ้นอยู่บนพื้นดี และร่องหินเล็ก ๆ ต้นนี้ .....

เจ้าต้นเทียนน้อย เฝ้าร้อง ภาวนา ขอเหล่าเซียนบนฟ้า บนยอดดอย ให้ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของเหล่าสกุณา นกน้อย ๆ เหล่านั้น ขอเพียงเศษเสี้ยวของความสนใจ ของการเหลียวแลกันบ้าง....

เจ้าต้นเทียนน้อย ภาวนาทุกวัน ทุกเวลา จนใกล้จะหมดเวลาของมัน จนกระทั่งเดือนตุลาคมของปีหนึ่ง....ร่างกายของมันก็เกิดการเปลี่ยนแปลง มันมีตุ๋มเล็ก ๆ งอกขึ้นจากปลายเส้นเล็ก ๆ สีเขียวอ่อน ๆ ใส ๆ ของมัน และเติบโตขึ้น มีสีสรร มีปีก และงดงาม ราวกับนกแก้วตัวน้อย ๆ และพร้อมจะออกโบยบิน แต่สายเล็ก ๆ สีเขียวที่ต่อเชื่อมกับต้นเทียน กับมิอาจหลุดออก และไร้ซึ่งเรี่ยวแรงจะออกบินได้... เจ้าต้นเทียนน้อยพยายามจะออกบินไปนานเป็นเดือน จึงท้อใจ และหมดเรี่ยวแรง แห้งเหี่ยวไป....

แต่เหล่า ผู้กล้า ผู้มาเยือนจากถิ่นใต้ ดินแดนไกล กลับให้ความสนใจ และชื่นชมกับความเปลี่ยนแปลงของ เจ้าต้นเทียนน้อย ... และขนานนามเจ้าเทียนต้นนี้ว่า เจ้า ....เทียนดอกนกแก้ว... ตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา.......




 วิว ระหว่างทางเดินในวันแรก กว่าจะถึงสามแยก ที่มีป้ายบอกทาง ก็ใช้เวลาในการเดินกว่า 3 ชั่วโมง เรียกว่า ใช้เวลาเดินไป พักไป ถ่ายรูปไปตลอดทางเลยค่ะ
 วิว ยอดดอย ทางเดิน บรรยากาศดี เดินสนุก อากาศดีมาก ๆ ชอบที่สุดเลยทริปนี้

 วิว ยอดเขาสามพี่น้อง ดูกันเอาเอง ใครพี่ใหญ่ ใครน้องเล็ก....

ยอดดอยหลวงเชียงดาว จุดดูพระอาทิตย์ตก ที่สวยที่สุดดดดด....งดงาม มาก ๆ เดินขึ้นจากจุดพักแรกอ่างสลุง เป็นระยะทางชัน ชัน และชัน เดินประมาณ 30 - 45 นาทีจ้า...

 แสงอาทิตย์สาดส่อง ขุนเขา เงาไม้ งดงามยิ่งนัก เหมือนพวกเรานั่งอยู่บนสรวงสวรรค์ งดงาม ยากยิ่งจะบรรยายจริง ๆ อยากให้ ชีวิตหนึ่ง ของทุกคน ได้มาเห็นภาพที่งดงามเช่นนี้มาก เลยค่ะ

วิว เส้นทางเดินกลับ ทางเดินลง ก็มีแต่ทางลง ทางลง และก็ทางลง จริง ๆ ต้องดูแลเข่า ข้อเท้าให้ดี ๆ 

ยอดดอยหลวงเชียงดาว ที่ถ่ายตอนเดินลง งดงาม จนไม่อยากจากไปเลยจริง ๆ ...

ก่อนจะออกนอกเรื่องไป เราก็กลับมากับจุดมุ่งหมายของเรากันก่อน ประสบความสำเร็จไปแล้ว 2 จุดมุ่งหมาย คือ ทานขาหมูเชียงดาวเจ้าเก่า และเก็บเจ้าดอกเทียนนกแก้ว ณ ดอยหลวง

ต่อไปคือ ภาพพระอาทิตย์ตก ณ ยอดดอยหลวงเชียงดาว 

ภาพพระอาทิตย์ขึ้น ณ ยอดดอยกิ่วลม

และ ทะเลหมอกบนยอดดอย

มาชมภาพกันได้เลยจ้า.....

ภาพนี้ถ่าย บน ยอดดอยหลวงเชียงดาว พระอาทิตย์ตก แสงสวยงาม และงดงามมาก เกินกว่า ความสามารถของ ญ. ตัวน้อย ๆ จะเก็บภาพมาได้ (แบบว่า... ความสามารถไม่ถึง)

ภาพพระอาทิตย์ขึ้น ณ ยอดดอยกิ่วลม แสงร้อนแรง งดงาม สวยมากจริง ๆ 

และภาพทะเลหมอก ยามเช้า ณ ยอดดอยกิ่วลม ทิศตะวันตก ตรงข้ามกับพระอาทิตย์ขึ้นเลยจ้า

ทะเลหมอก หลัง ดอยสามพี่น้อง แบบว่า เหมือนทะเลจริง ๆ ถ้ากระโดดลงไปว่ายได้คงกระโดยไปแล้ว นุ่มนวล และสวยงามมาก ๆ เกินคำบรรยายจริง ๆเลย

และขอแถมภาพนก น้อย ๆ ที่ บริเวณจุดกางเต้นท์ อ่างสลุง จ้า


เป็นเหล่านกที่น่ารักมากๆ เลยค่ะ ถ้าได้มีโอกาสแวะไป อย่าลืมมองหาพวกเขานะค่ะ อยู่ใกล้ ๆ บินรอบ ๆ เราเลยค่ะ





-->